สัมภาษณ์พี่น้ำ (ศิษย์เก่าปัญญาประทีป รุ่น 9 - กระจาบทอง 2) โดย ชมรมสื่อสารองค์กรจูเนียร์ 2567

Share
“รุ่นพี่เก่งรอบด้าน 
วิชาการ วิชาชีวิต
เพาะบ่ม ในรั้วโรงเรียน ” 


ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ได้เป็นนักเรียนที่ปัญญาประทีปของ พี่น้ำ (นันท์นภัส จันทร์พริ้ม) ศิษย์เก่าปัญญาประทีป รุ่น 9 – กระจาบทอง 2 ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CSII : Chulalongkorn School of Integrated Innovation - BAScii Program หลักสูตรศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) ในวันนี้พี่น้ำได้กลับมาเยี่ยมโรงเรียนและช่วยทำงานจิตอาสาให้กับโรงเรียน นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับน้อง ๆ ชมรมสื่อสารองค์กรจูเนียร์ชวนพี่น้ำมาแชร์ประสบการณ์ และ Learning ต่างๆ ของพี่น้ำที่ได้รับหลังจากก้าวออกจากปัญญาประทีป

พี่น้ำมีวิธีการจัดการเวลาอย่างไรในช่วง ม.ปลาย ที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้ตัวเองสามารถทําทั้งกิจกรรมในโรงเรียน และยังรับผิดชอบงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี
“สำหรับพี่น้ำมองว่า อยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมกิจกรรมของโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน หรือการเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรม Common ให้น้อง ๆ ในเวลากลางคืนที่หอพัก หรืองาน Prefect ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณครูในการดูแลน้องให้เป็นระเบียบ ซึ่งถ้าเป็นโรงเรียนอื่นเราอาจจะไม่ต้องทํากิจกรรมอะไรมากนัก ในตอนแรกพี่น้ำแอบรู้สึกว่า “มันเป็นภาระ เพราะต้องแบ่งเวลาจากที่สามารถติวหรือเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยได้เต็มที่ ก็ต้องมาทํางานเพื่อส่วนรวม” แต่หลังจากได้ลงมือทำก็ทําให้รู้สึกได้เติมเต็มความสุขในชีวิต พี่น้ำจึงเริ่มเห็นความสำคัญและอยากที่จะทํามากขึ้น 

ส่วนในแง่การจัดการเวลา พี่น้ำก็จะให้หน้าที่ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก่อน จะพยายามยืดหยุ่นและจัดเวลาให้สมดุลกันในทุกๆ ด้าน ระหว่างหน้าที่ส่วนรวม หน้าที่ของการเป็นรุ่นพี่ และหน้าที่ที่เราต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย เช่น ถ้าครูให้จัดกิจกรรมให้น้อง พี่น้ำก็จะทําให้เสร็จก่อน แล้วค่อยบริหารเวลาที่เหลือในการติวของตัวเอง” 

ทำอย่างไรเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตของนักเรียนได้อย่างสมดุล เพื่อเป็นข้อแนะนําสำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย ที่บางคนจริงจัง แต่บางคนก็ยังดูเล่น ๆ อยู่
“ไม่มีอะไรในชีวิตของเราที่มากเกินไปแล้วจะดี ทุกอย่างทั้งความจริงจังและการผ่อนคลายก็ควรมีแต่พอดี ไม่มากและน้อยจนเกินไป ซึ่งในมุมมองของพี่น้ำเอง การใช้ชีวิตให้สมดุลนั้นไม่ใช่ Balance แบบ 50-50 คือ งาน 50 และ เล่น 50 เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถแบ่งเวลาให้มัน 50-50 ได้ตลอด แต่เราควรเลือกว่า เราจะโฟกัสกับอะไรเป็นช่วง ๆ เช่น ในช่วงใกล้สอบปลาย
ภาคอาจจะโฟกัสเรื่องการเรียนก่อน แต่หลังจบช่วงสอบ สุขภาพเราอาจจะถดถอยจากการอดหลับอดนอน ในช่วงปิดเทอมแทนที่จะโฟกัสเรื่องการเรียนก็อาจจะเปลี่ยนมาโฟกัสสุขภาพ หรือเลือกการทํากิจกรรมเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้มากขึ้นแทน มันคือการเลือกว่า เราจะโฟกัสกับอะไรให้เหมาะสมกับช่วงจังหวะชีวิตที่มีอยู่ในตอนนี้ให้ชีวิตมันกลมกล่อมมากที่สุด”

เมื่อพี่น้ำต้องออกไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทักษะอะไรที่ได้รับจากปัญญาประทีป และได้นำไปใช้มากที่สุด
“สำหรับพี่น้ำคิดว่าเป็นเรื่องของ 'ทักษะการ Reflect หรือการสะท้อน' ในปัญญาประทีปเราจะต้องเกิดการ Reflect อยู่ตลอดเวลาว่าในสถานการณ์เรื่องนั้น ๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้เรียนรู้อะไร และจะนําไปปรับใช้อย่างไรต่อ เช่น การทบทวนความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งสมาธิ ทํา AAR (After Activity Review) หลังจากเรียนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เสร็จ ซึ่งมันเป็นการปลูกฝังให้เราเกิดการทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าเรานั้นได้เรียนรู้อะไร จึงทําให้เราเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่แค่จากการเรียน แต่รวมถึงเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันด้วย และเมื่อเราทุกข์การได้กลับมา Reflect กับตัวเองบ่อย ๆ จะทําให้เราเริ่มรู้ตัวทันกับกิเลสในจิตใจ ทําให้ไม่จมกับความเครียดหรือความคิดแง่ลบนานจนเกินไป  พี่น้ำจึงคิดว่าทักษะการ Reflect ที่ปัญญาประทีปปลูกฝังเป็นประโยชน์กับตัวพี่น้ำมากที่สุด”

ถ้าหากพี่น้ำได้ย้อนกลับมาอยู่ ม.ปลาย อีกครั้ง อะไรเป็นสิ่งที่อยากรักษาเอาไว้ และอะไรคือสิ่งที่อยากกลับมาโฟกัสและแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“สิ่งที่พี่น้ำทําแล้วไม่เคยเสียดายคือการทํากิจกรรมให้โรงเรียน ทุกครั้งที่ครูขอให้จัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกีฬาสี หรือจัดกิจกรรมอื่น ๆ ถึงแม้จะเป็นงานที่หนักมากแต่เป็นอะไรทําแล้วฟินในทุกครั้งที่ได้ทํา รู้สึกว่าได้ส่งต่อสิ่งที่เราได้รับไปสู่รุ่นน้อง และส่งต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนให้กับคนอื่น ๆ เมื่อเห็นน้อง ๆ ได้เรียนรู้พี่ก็รู้สึกฟินและได้คุณค่ากลับมา ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่เราจัดกิจกรรมนอกจากจะได้ช่วยคนอื่นแล้วเราก็ยังได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นด้วย ทุกครั้งที่ต้องเป็นผู้นํากิจกรรมเราจะได้เรียนรู้สกิลใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่างเช่น การสื่อสาร การพาคนอื่นคิด การได้ทํากิจกรรมให้โรงเรียนมันเกิดขึ้นมาจากการเสียสละเวลาส่วนตัวของเราเพื่อส่วนรวม  พี่น้ำเลยอยากชวนให้น้อง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับส่วนรวมให้มากขึ้น ในฐานะคน ๆ หนึ่งในสังคมปัญญาประทีป เราสามารถช่วยให้สังคมนี้ดีขึ้นได้ และแบ่งเวลาส่วนตัวมาทําอะไรให้สังคมบ้าง ถ้าถามว่าอยู่ไปเฉย ๆ ทําได้ไหม มันก็อยู่ได้ แต่มันจะฟินกว่ามากถ้าเราลงแรงเพิ่มอีกหน่อยเพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น 

ส่วนสิ่งเสียดายที่ทําไปแล้วอยากกลับไปแก้ คือ ตอนนั้นพี่น้ำรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตจริงจังเกินไป มัวแต่โฟกัสกับการสร้างผลลัพธ์ให้ดีที่สุด ทั้ง ๆ ที่ในช่วงนั้นเป็นโอกาสได้เรียนรู้หลายอย่างมาก แต่เพราะเอาแต่โฟกัสกับผลลัพธ์มากเกินไป ทําให้ลืมที่จะดีใจกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทาง และลืมเอนจอยกับเพื่อน ๆ ที่ลำบากกับเรามา ถ้าย้อนกลับไปได้ก็จะมีความสุขระหว่างทางให้มากขึ้นแทนที่จะโฟกัสแต่กับจุดหมายเท่านั้น”

สังคมในโรงเรียนปัญญาประทีปแห่งนี้ ทั้งครู เพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้อง มีผลต่อตัวพี่อย่างไรบ้าง
“รู้สึกว่าปัญญาประทีปเป็นสังคมที่มีตัวอย่างที่ดีอยู่รอบตัว ต่างจากโรงเรียนตอนช่วงวัยประถมมาก ๆ ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้รู้จักกัน แต่หลังจากมาอยู่ที่ปัญญาประทีป ทุกคนรู้จักกันดีหมดทั้งคุณครูและนักเรียน ตอนที่เข้ามาประทับใจรุ่นพี่รุ่นหนึ่งมาก เพราะมักจะเข้ามาทําอะไรเพื่อน้อง ๆ เสมอ ทั้งจัดกิจกรรม จัดปาร์ตี้ ทําชมรมต่าง ๆ โดยหวังให้ทุกคนทั้งโรงเรียนสนิทกัน ถึงแม้จะยุ่งแค่ไหนก็ตาม พวกพี่เค้าก็ไม่เคยลืมที่จะทําเพื่อส่วนรวมของโรงเรียน ทําให้เคารพรุ่นพี่รุ่นนั้นมาก ๆ และคิดไว้ว่าถ้าโตไปอยากเป็นแบบนั้นให้ได้ ในช่วง ม.ปลาย พี่น้ำเลยพยายามเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่เหล่านั้น 

สำหรับคุณครูปัญญาประทีปมีทั้งใจดีและเด็ดขาดในเวลาเดียวกัน เวลาที่เราทําอะไรได้ดีก็ชื่นชม แต่เวลาเราที่พลาดก็ไม่ปิดตาข้างเดียวแล้วปล่อยผ่านไป กล้าที่จะเข้ามาเตือนเราโดยหวังให้เราพัฒนา ทําให้จากเมื่อก่อนที่กลัวการโดนติมาก ๆ กลายเป็นเรารู้สึกดีใจที่เค้าเตือนเราด้วยซ้ำ เพราะการเตือนของเขาไม่ได้ทําให้เรารู้สึกแย่ แต่ทําให้รู้สึกได้ถึงความหวังดีและความเป็นห่วง และเมื่อทุกคนตั้งใจเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน บวกกับวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้อให้เราสะท้อนกันและกัน เช่น วงกลมกัลยาณมิตร ที่เราต้องพูดชื่นชม ขอโทษ แนะนํากัน เกิดเป็นสังคมที่ทุกคนสบายใจในการอยู่ร่วมกัน และซัพพอร์ตกันในการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

..สุดท้ายนี้ พี่น้ำได้ฝากบทเรียนที่ได้รับจากการบ่มเพาะในรั้วโรงเรียนตลอดระยะเวลา 6 ปี ถึงรุ่นน้องชาวปัญญาประทีปว่า
'เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จับถูกมากกว่าการจับผิด ทุกอย่างล้วนมีเหตุ' เพราะมันจะเป็นเครื่องมือทรงคุณค่าให้กับเราในยามลำบาก ท้อแท้ใจ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดก็สามารถฝ่าฝันไปได้ด้วยตัวเอง"

17 ธันวาคม 2567
สัมภาษณ์ : พราว - นางสาวอภิชญา ตันติกุล ชั้น ม.4 และ บัตเตอร์ - นายบัตเตอร์ กุลปัญญาเลิศ ชั้น ม.4
ถอดความ : พัฒ - เด็กชายพัฒนะ ช้อยเครือ ชั้น ม.3
เรียบเรียง : พราว - นางสาวอภิชญา ตันติกุล ชั้น ม.4 และ พัฒ - เด็กชายพัฒนะ ช้อยเครือ ชั้น ม.3
ภาพประกอบ : หยกพ้ง - นายพสิษฐ์ เรืองโชติเสถียร ชั้น ม.3
นักเรียนชมรมสื่อสารองค์กรจูเนียร์

บทความที่เกี่ยวข้อง