การเรียนรู้

PPS SIXNATURE


วิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

      ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ วลีที่บางคนอาจจะพอคุ้นหูอยู่บ้างนี้ เป็นชื่อของกลุ่มวิชาบูรณาการที่โรงเรียนปัญญาประทีปใช้เป็นหลักเพื่อร้อยเรียงเส้นทางการเรียนรู้
เริ่มต้นตั้งแต่ ม.1 ไปจนถึง ม.6 เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักคิด พิจารณา วิเคราะห์ถึงสาเหตุและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักอริยสัจ 4

      เริ่มต้นที่ ‘กินเป็น’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้หลักคิดในการออกแบบหลักสูตรมาจากคำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ว่า “การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนกินอยู่เป็น” ในก้าวแรกที่เดินเข้ามาสู่รั้วปัญญาประทีป นักเรียนจะได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารการกินของตัวเอง ตั้งแต่การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เล็งเห็นถึงคุณค่าแท้ของอาหาร ไม่ใช่แค่การกินเพื่อความสวยงามหรือความอร่อย หลักสูตรจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองออกแบบเมนูอาหาร เรียนรู้ในการทำอาหารง่ายๆ ด้วยตัวเอง คิดวิเคราะห์ว่ากินอย่างไรแล้วเกิดผลอย่างไร ฯลฯ
 







      'ซับเหงื่อโลก' ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เด็กๆ จะได้เรียนรู้เพื่อหาคำตอบว่า เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร และเราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด วิชานี้จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้นักเรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และด้วยสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนที่มีความเป็นธรรมชาติสูง นักเรียนก็จะมีโอกาสได้ซึบซับและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น ครูจะพาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต ได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน การจัดการทรัพยากรและขยะประเภทต่างๆ รวมทั้งจัดให้มี ‘ทริปเรียนรู้โลกนอกกะลา’ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสออกไปสัมผัสกับธรรมชาติและผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย

      ‘โตก่อนโต’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครูจะพานักเรียนไปเรียนรู้ชีวิตและกระบวนการทำงานของผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ผ่านประสบการณ์การฝึกงานในบริษัท หน่วยงาน หรือในสายงานที่แต่ละคนสนใจเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ การเดินทางออกไปสัมผัสประสบการณ์จริง จะทำให้เด็กแต่ละคนได้เรียนรู้ว่า เขาสนใจในอาชีพหรือในสายวิชานั้นๆ จริงจังหรือไม่ และพวกเขาต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตนเองฝันไว้ เด็กๆ จะได้ถอดบทเรียนและสร้างโปรเจกต์เล็กๆ ของตัวเองประกอบวิชา เป็นการฝึกฝนให้ได้รู้จักวางแผน ตั้งเป้าหมาย และกำกับตัวเองให้เดินไปถึงปลายทางที่ตั้งไว้ พร้อมกับคอยตรวจสอบตัวเองในระหว่างทาง เพื่อให้เกิดการพูดคุยกับตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น > เข้าชมเพจ ‘โตก่อนโต’ ทาง Facebook

      ‘สื่อสารเป็น’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มุ่งเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารให้เป็น ให้เกิดประโยชน์ โดยมีความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ เป็นการศึกษากระบวนการสื่อสารตั้งแต่ ‘ภายใน’ คือการใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์ การใช้สติและสมาธิในการระลึกรู้ถึงสิ่งกระทบต่างๆ จนถึงการสื่อสาร ‘ภายนอก’ คือ การฟัง ดู พูด อ่าน เขียน รวมถึงการใคร่ครวญอารมณ์ความรู้สึกของทั้งตนเองและผู้อื่นได้ โดยคุณครูจะเปิดประสบการณ์ ให้นักเรียนได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับผู้อื่น กับสังคม เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าการสื่อสารเป็นเครื่องมือที่อยู่ระหว่างกลางของเราทุกๆ คน

      คุณครูจะใช้ ‘ละคร’ เป็นหนึ่งในสื่อการเรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ ได้ศึกษา ให้พวกเขาได้ถอดตัวตนของตัวเองออก และทำความเข้าใจในตัวละครนั้นๆ จนสามารถทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นได้ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รู้จักผู้คนที่มีความหลากหลายในสังคม ทางโรงเรียนยังได้จัดให้มีการเรียนรู้นอกโรงเรียนเพิ่มเติมอีกหลายวาระ อาทิ การไปพูดคุยสัมภาษณ์เยาวชนผู้ก้าวพลาด, Sex Worker, ผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย และเด็กๆ ยังจะได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้สึก เรียนรู้กายและใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง จากกิจกรรม ‘วัด’ ใจ อย่างการเข้าชมการชันสูตรพลิกศพ การปลีกวิเวกในวัดป่า ฯลฯ อีกด้วย

 





      ‘สัมมาธุรกิจ’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นการขยับมาสู่วิชาชีวิตที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปเรียนรู้โลกของธุรกิจ ควบคู่กับการบ่มเพาะความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆ กัน นักเรียนจะได้ศึกษาวิธีการดำเนินธุรกิจของกิจการเพื่อสังคม และทำโครงงานเพื่อทดลองแก้ปัญหาสังคม โดยทำแบบธุรกิจ (Business Model) ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และเรียนรู้ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ผ่านการศึกษา สังเกตการณ์ และสัมภาษณ์คนในพื้นที่ จากนั้นจึงวิเคราะห์หารากของปัญหา (Root Cause Analysis) และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จนค้นพบโอกาสในการแก้ไข แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเปิดพื้นที่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายเพื่อคิดไอเดียด้วยการระดมสมอง จนกระทั่งสามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้ เพื่อที่ในขั้นสุดท้าย จะสามารถวางแผนผลลัพธ์ที่ต้องการจะให้เกิดขึ้น (Theory of Change) พร้อมทั้งตรวจสอบความเชื่อมโยงกันระหว่าง ปัญหาที่อยากแก้ไข ผลลัพธ์ที่อยากจะให้เกิดขึ้น ตัวชี้วัด และวิธีการแก้ปัญหา ให้สอดคล้องกัน (Impact Value Chain) แล้วลงมือทดลองทำ ลองผิด ลองถูก ด้วยการสร้างต้นแบบทดสอบต้นแบบ รับฟังเสียงสะท้อน เพื่อนำมาปรับปรุงต้นแบบหลายๆ ครั้งจนเจอทางที่ใช่

      ‘แกะสลักชีวิต’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีสุดท้ายของชีวิตวัยมัธยมฯ เป็นช่วงที่นักเรียนทุกคนต่างต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าไปสู่ช่วงถัดไปของชีวิต เป็นช่วงที่เด็กๆ จะจัดทำเอกสารรวมผลงานส่วนตัว (Portfolio) และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการมุ่งมั่นไปสู่อนาคตที่ตัวเองได้วางเป้าหมายไว้ วิชาแกะสลักชีวิตจึงมุ่งจัดสรรโอกาสให้นักเรียนได้สํารวจตรวจสอบความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในส่วนของโลกภายนอกและภายใน ครูจะส่งเสริมให้นักเรียนเกิดฉันทะและทักษะในการขัดเกลาพัฒนาชีวิต สามารถกำกับดูแลเป็นผู้นำตนเอง ไม่เบียดเบียนตนเอง โดยให้เด็กเรียนรู้ที่จะ ‘แกะ’ สิ่งที่ไม่ใช่หรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตออกไป รวมทั้งสามารถตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์และการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน และมีการ ‘ต่อเทียน’ ให้แก่รุ่นน้องหรือบุคคลอื่นๆ
 



ต่อเทียน

      ‘ต่อเทียน’ หรือ Pay It Forward เป็นวัฒนธรรมที่ชาวปัญญาประทีปใช้อยู่ในวิถีชีวิต เป็นกระบวนการส่งต่อคุณค่า ความเพียร หรือทักษะบางอย่างที่เป็นประโยชน์ให้แก่กันและกัน เช่น ส่งต่อจากรุ่นพี่ไปสู่รุ่นน้อง จากครูสู่นักเรียน จากนักเรียนสู่ครอบครัว ฯลฯ เป็นการ ‘สร้างประโยชน์ท่าน’ คือแบ่งปันสิ่งที่ตนมีให้กับผู้อื่น ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น คำนึงถึงชีวิตและจิตใจของผู้อื่นนอกเหนือจากตัวเอง เปรียบเสมือนการจุดเทียนให้แสงสว่างในชีวิตของกันและกัน


กัลยาณมิตร

      กัลยาณมิตรเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของมนุษย์แต่ละคน กัลยาณมิตรจะคอยเกื้อหนุน เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ หรือตักเตือนเราด้วยความเมตตา หากเปรียบกัลยาณมิตรเป็นสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเสมือนสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เอื้อให้ชีวิตของผู้ที่มีกัลยาณมิตรแวดล้อม เกิดการพัฒนาและเติบโตไปสู่เส้นทางที่ดีงาม การสื่อสารแบบกัลยาณมิตรเป็นทักษะสำคัญที่ชาวปัญญาประทีปควรฝึกฝนให้มีในตัวเอง

      ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ กระบวนการล้อมวงแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเอ่ยคำ ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เราสามารถเปิดใจพูดคุยกันได้อย่างกัลยาณมิตร เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้ชาวปัญญาประทีปทุกคนได้ฝึกฝนการสื่อสาร ทั้งการแสดงออกทางความคิดเห็น การรับฟังผู้อื่น รวมทั้งฝึกให้ได้เรียนรู้ที่จะปล่อยวางอัตตาตัวตนด้วย


รักทำความดี (LOVE TO DO GOOD)

      เพื่อบ่มเพาะฉันทะหรือความรักความยินดีในการทำสิ่งที่ดี ที่จะสามารถสร้างทั้ง ‘ประโยชน์ตน’ และ ‘ประโยชน์ท่าน’ คือสร้างความสุขให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น โรงเรียนปัญญาประทีปจึงมีการส่งเสริมให้เด็กๆ และทุกๆ คนในชุมชนปัญญาประทีปมองเห็นความสำคัญของหยิบเอาความถนัด ความสามารถ และพลังของตนเองมาช่วยเหลือส่วนรวม อาจเป็นการสร้างโปรเจกต์เพื่อช่วยชุมชน ไปจนถึงการกระทำเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยให้ใครสักคนยิ้มในใจได้

      LOVE TO DO GOOD เป็นวัฒนธรรมที่ชาวปัญญาประทีปและชาวทอสี (โรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาที่จัดการศึกษาหลักสูตรพุทธปัญญาเช่นเดียวกัน) ใช้ในการสร้างกำลังใจในการทำความดีให้แก่ผู้เรียนทุกคน ทั้งในระดับเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ที่สนใจชมโครงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการ ‘รักทำความดี’ สามารถติดตามแฮชแท็ก #LoveToDoGood ในโลกโซเชียลมีเดียได้อีกทางหนึ่ง
 





วิชาตื่นรู้ และ PPS Boost Camp

      โดยหลักการแล้ว ‘ตื่นรู้’ เป็นวิชาที่กำหนดไว้ให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่ปัญญาประทีปได้เริ่มต้นฝึกฝนเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิต ‘ด้านใน’ ทั้งในส่วนของจิตใจและปัญญา เด็กๆ จะได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งในคาบเรียนและในชีวิตประจำวัน วิชาตื่นรู้นี้นับรวมไปถึงกิจกรรมในวิถีชีวิตประจำวันของนักเรียนและครูทั้งโรงเรียน อย่างการทำวัตรสวดมนต์ การเจริญสติ ฟังธรรม จดเทศน์ ฯลฯ ซึ่งในการศึกษาเรียนรู้วิชานี้ จะได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ชยสาโร องค์ประธานที่ปรึกษาของโรงเรียน เป็นครูในการนำปฏิบัติ แสดงธรรม และไขปัญหาธรรมให้ชาวปัญญาประทีปทุกๆ คน

      นอกจากครูบาอาจารย์คือ พระอาจารย์ชยสาโร ที่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ให้ความเคารพยิ่งแล้ว ‘ตื่นรู้’ ยังได้รับการออกแบบให้ถ่ายทอดวิชาโดยครูประจำวิชาอีกด้วย รูปแบบการเรียนการสอนจะเป็นไปอย่างเหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า การฝึกฝนตนหรือการเรียนรู้เรื่องธรรมะนั้นไม่เพียงแต่จำกัดอยู่ในชั้นเรียนพระพุทธศาสนา แต่อยู่ในทุกลมหายใจของชีวิตของชาวปัญญาประทีปทุกคน
 









     อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนปัญญาประทีปในทุกระดับชั้นได้ฝึนฝนตัวเองอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทางโรงเรียนยังได้จัดให้มีกิจกรรม PPS Boost Camp ขึ้นอีกด้วย เป้าหมายของ Boost Camp นั้นก็คือการชวนให้เด็กๆ ได้เห็นถึงความสำคัญและเกิดฉันทะในการฝึกปฏิบัติพัฒนาจิตใจและสติในชีวิตประจำวัน ผ่านการฝึกปฏิบัติทั้งในและนอกรูปแบบเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (อาทิเช่น จัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน) ให้นักเรียนได้ฝึกวินัยของร่างกายและจิตใจ รูปแบบกิจกรรมต่างๆ ใน Boost Camp จะมีตั้งแต่การทำสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฟังธรรมเทศนาและไขปัญหาธรรมโดยพระอาจารย์ชยสาโร ไปจนถึงกิจกรรมฝึกสตินอกรูปแบบที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์โดยคณะครู ซึ่งจะเป็นการเปิดประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะปลีกมาอยู่กับจิตใจตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม ได้เห็นความคิดและความรู้สึกของตัวเองชัดเจนขึ้น

      เด็กๆ จะได้เรียนรู้ที่จะ ‘อยู่ง่าย กินง่าย’ มากขึ้น เข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น ในการจัดที่พักจะแบ่งอย่างชัดเจนเป็นโซนชาย-หญิง จากชีวิตของนักเรียนที่โดยปกติได้เข้าหอพักอาบน้ำอุ่น นอนในที่นอนนุ่มสบาย เปลี่ยนมาเป็นการฝึกปลีกจากกลุ่มเพื่อนสนิทไปนอนคนเดียวในเต็นท์ผ้าใบหลังเล็ก ปักเต๊นท์บนพื้นผิวขรุขระที่มีเพียงแผ่นปูรองนอนคั่นระหว่างผืนดินกับร่างกายไว้ เด็กนักเรียนชายยังจะได้ฝึกฝืนสู้สภาพอากาศ แม้อากาศอาจหนาวเย็นอยู่บ้างก็จะได้อาบน้ำอยู่ใต้แสงจันทร์ ความสะดวกสบายหลายประการถูกลดทอนลงไป ในเรื่องอาหารการกิน เด็กๆ จะก็ได้ฝึกให้รู้จักกิน ‘ง่าย’ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ ‘ไม่ง่าย’ นักที่จะปรับตัวให้เป็นผู้ถือศีล 8 ที่กินอาหารมังสวิรัติเพียงวันละ 2 มื้อ ถือเป็นการฝึกฝนอย่างเต็มรูปแบบให้รู้จักลดละกิเลส ฝึกความเพียร ความอดทน และฝึกที่จะสร้างกำลังใจในการพัฒนาตัวเองต่อๆ ไปในระยะยาว

 



วิ่งชีวิต

      อีกหนึ่งกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเด็กๆ ชาวปัญญาประทีป คือ ‘วิ่งชีวิต’ เด็กๆ ปัญญาประทีปจะตื่นตั้งแต่เช้ามืดมาออกวิ่งเพื่อเริ่มต้นวันใหม่ การวิ่งที่ว่านี้จะไม่ได้ถึงกับเป็นกิจวัตรประจำวัน และไม่เป็นข้อบังคับว่าต้องปฏิบัติทุกวัน แต่เด็กๆ แต่ละคนจะมีทางเลือกในการวิ่งเก็บรอบให้ได้ครบตามจำนวนรอบที่กำหนดไว้ในแต่ละภาคเรียน ด้วยการบริหารจัดการชีวิตตัวเองทั้งในภาพกว้างและในรายละเอียด วิ่งชีวิตได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อฝึกฝนทักษะการบริหารเวลา พร้อมๆ กับบริหารร่างกายและจิตใจไปด้วย

      นอกจากได้ฝึกฝืน ฝึกในเรื่องความรับผิดชอบ ความเพียร การตรงต่อเวลา ทักษะการบริหารจัดการ และวินัยแล้ว เด็กๆ ยังได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย และได้ความเข้มแข็งทางกายและใจ ในขณะที่ร่างกายได้รับการฝึก จิตใจเองก็จะได้รับการบ่มเพาะให้แข็งแรงไปในวินาทีเดียวกัน และการที่เด็กๆ สามารถกำกับตัวเอง ฝึกที่จะทำในสิ่งที่ต้องฝืนใจตัวเอง หรือเรียนรู้ที่จะ ‘สู้สิ่งยาก’ ได้นี้ จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้พวกเขาได้สะสมทักษะและคุณสมบัติบางอย่างติดตัวไป วิ่งชีวิตเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยพัฒนาทั้งกาย ศีล จิตใจ และปัญญา ของเด็กๆ ไปพร้อมกัน กล่าวคือในขณะที่กาย ‘วิ่ง’ ใจก็เรียนรู้ที่จะ ‘นิ่ง’ ได้