สัมภาษณ์พระจีโอ (ศิษย์เก่า รุ่น 8 - จักจั่น 2) โดย ชมรมสื่อสารองค์กรจูเนียร์ 2567

Share

3 ปี หลังจาก พระจีโอ (ชาครียุตม์ ไพศาลกิจรุ่งเรือง) ศิษย์เก่าปัญญาประทีป รุ่น 8 (จักจั่น 2) จบการศึกษาและได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนโรงเรียน พร้อมบอกเล่าให้น้องๆ นักเรียนศิษย์ปัจจุบันจากชมรมสื่อสารองค์กร ได้ทราบถึงเรื่องราวชีวิตหลังจบจากโรงเรียนไปจนถึงตอนที่ท่านตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญในมหาวิทยาลัยชีวิต

สาเหตุที่ตัดสินใจไม่เข้ามหาวิทยาลัยและเลือกที่จะออกมา Gap year ?

“ สาเหตุหลักของการตัดสินใจในตอนนั้นคือ ‘อีโก้’ ความมั่นใจในตนเองที่มากเกินไปแต่ไม่ใช้ปัญญาในการประกอบการตัดสินใจ ปัญญาที่ว่าไม่ได้หมายถึงความรู้ทั่วๆ ไป แต่หมายถึงปัญญาในการมองเห็นจิตใจตนเองว่า มันมีอะไรครอบเราอยู่ จึงทำให้หลวงพี่ตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย”

หลวงพี่มีความรู้สึกอย่างไรต่อการตัดสินใจ Gap year ในตอนนั้น  ? 

“ ตอนนั้นรู้สึกว่า การออกมา Gap year จะทำให้เรามีเวลาอยู่กับคนรอบข้างมากขึ้น เป็นเวลาที่เราลงทุนไปกับความสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีนะ 

ในมุมที่ไม่ดี ก็รู้สึกเสียดายที่ไม่ทำให้ดีกว่านี้ จึงส่งผลให้เกิดผลเสียกับจิตใจของเราด้วย จิตใจของคนที่บ้านด้วย อีกเรื่องที่รู้สึกเสียดายไม่แพ้กันเลย คือ เรื่องของเวลา สิ่งที่เราควรระวังในการตัดสินใจ Gap year คือ เรื่องการจัดการเวลาและวินัยของตนเองให้เหมาะสมว่า เราจะใช้เวลาอันมีค่าของเราไปกับการทำอะไรที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพที่สุด พอจัดการไม่ค่อยดีผลลัพท์ที่ตามมาก็ไม่ค่อยดีนัก  

ถ้าถามมุมดีๆ จากการ Gap year ที่ชัดๆ ก็คือ ทำให้ได้เห็นใจตนเองมากขึ้น เห็นกิเลส เห็นข้อผิดพลาด และเรียนรู้จากมัน ถ้าไม่เคยทำผิดพลาดเลยเราก็ไม่เกิดการเรียนรู้ได้ ข้อดีมากๆ คือ มีอิสระมากขึ้น ทำให้กล้าฝัน กล้าทำสิ่งต่างๆ กล้าเดินออกจากกรอบ หาช่องทางใกล้ตัวในการทำอะไรสักอย่างกับมัน ต้องตอบคำถามตัวเองเหมือนตอนจบ ม.6ใหม่ๆ ว่าเราจะทำอะไรต่อเพื่อให้มีความมั่นคงทางด้านการเงิน เราจะใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร เมื่อได้ตั้งคำถามและตอบคำถามที่ลึกซึ้งมากขึ้นทำให้จิตใจตั้งมั่นมากขึ้น ได้เจอโจทย์ที่ยากขึ้นทั้งด้านจิตใจและด้านการกระทำด้วย ”

ช่วง Gap year จนถึงช่วงที่ตัดสินใจบวช หลวงพี่ทำอะไรมาบ้าง ?

“ ช่วงนั้นหลวงพี่สนใจด้านศิลปะ และการสร้างสรรค์งานให้มันอยู่ในรูปแบบต่างๆ ตอนแรกหลวงพี่จะไปแนวฟิกเกอร์ Popmart แต่สุดท้ายทำได้ประมาณนึงโลกก็เปลี่ยนไป เหตุปัจจัยข้างในก็เปลี่ยน เลยตัดสินใจไปทำอย่างอื่น เน้นสร้างงานศิลปะจากแนวคิดและประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังต้องต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความมีวินัยของตนเองในโลกที่มีโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเสมอ ทำให้หลายอย่าง อาจถูกทำบ้าง ไม่ถูกทำบ้าง ”

จุดเปลี่ยนชีวิตให้ตัดสินใจบวช ?

“ ปัจจัยหลัก คือ กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนี้ไม่ใช่แค่เพื่อนที่อยู่ข้างเรา แต่ยังรวมถึงคุณครูก็ดี ผู้ปกครองก็ดี ผู้คนที่หวังดีกับเราก็ดี และที่สำคัญคือ เราต้องเป็นกัลยาณมิตรกับตัวเราเอง ทำให้เห็นว่า ปัจจัยหลักๆ แล้วมาจากเรื่องภายในจิตใจของเรา หลวงพี่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า การจะเจริญบนโลกใบนี้ จะออกไปทำสิ่งต่างๆ ออกไปสร้างผลงานให้สำเร็จด้วยจิตใจที่ไม่มั่นคงและอ่อนแออย่างนี้ต่อไปหรือ จึงมาสู่เป้าหมายแรกในการมาบวชครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาจิตใจตนเองให้ตั้งมั่นเข้มแข็งมากขึ้น และไม่ถูกกิเลสดึง ”

สิ่งสำคัญหรือข้อคิดที่โรงเรียนปลูกฝังให้ในการออกไปเผชิญกับโลกภายนอก ?

“ Long Life Learning เพราะในปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนไปเร็วขึ้นมากๆ จนเรารู้สึกว่าเราตามโลกไม่ทัน การเรียนรู้ตลอดเวลาและรู้จักปรับตัวให้ทันตามโลกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรียนรู้เรื่องข้อมูลความรู้ทั่วไป แต่โรงเรียนสอนให้รู้จักเรียนรู้จากภายในจิตใจตนเองว่า ใจเรากำลังเผชิญกับอะไร ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งมุมภายในและภายนอกนั่นเอง

จากมุมมองของพระจีโอ ท่านมองว่า เมื่อไหร่ที่เกิดความรู้สึกทุกข์มากๆ จนอยากออกมาจากจุดนั้น เมื่อนั้นแหละที่ควรหันมาพัฒนาจิตใจตนเอง โดยที่ไม่ได้บอกว่าการพัฒนาจิตใจตนเองจะทำให้ทุกข์หายไป แต่เป็นการทำให้เราอยู่กับมันได้ด้วยความเข้าใจและอยู่กับมันได้มากขึ้น เหมือนการอยู่กับไฟว่า อยู่อย่างไรให้ไฟไม่ไหม้บ้านเราและตัวเรา รู้แหละว่ามันทำให้เราร้อน ทำให้เราเหงื่อแตก เทียบกับเรื่องความทุกข์ คือ เหมือนเราโดนไฟไหม้ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันรู้สึกร้อนน้อยลง ลองโดนเผาก่อนแล้วจะรู้เองว่า เมื่อนั้นเราอยากได้น้ำมากน้อยแค่ไหน จนวันหนึ่งที่เราอาจต้องอยู่กับไฟแล้วเราจะไม่รู้สึกร้อนอีกต่อไป”

ในฐานะศิษย์เก่าปัญญาประทีป พระจีโอได้กล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ได้จากโรงเรียน คือ กัลยาณมิตร ที่ไม่ใช่แค่เพื่อนๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ตนเองก็นับเป็นกัลยาณมิตรของเราด้วย ในช่วง ม.ต้น อาจตอบได้ยาก แต่พอได้ลองมีโอกาสออกไปเจอโลกภายนอกก็จะค้นพบว่า กัลยาณมิตรจากโรงเรียนนี้ไม่ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยช่วยตักเตือนและแนะนำเราให้อยู่ในลู่ทางที่ดี อีกทั้งยังมีจำนวนเยอะมากด้วย หรือแม้กระทั่งการที่โรงเรียนหล่อหลอมให้ทุกคนอยู่ร่วมกับธรรมมะที่ผสมอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นโอกาสที่พบเจอได้ค่อนข้างยาก 

ท้ายนี้ พระจีโอมีความตั้งใจที่จะบวชจนถึงเดือนมกราคม ปี 2568 เพราะด้วยภาระที่บ้าน และคิดอยากกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยหากไม่คลาดเคลื่อนอะไร พร้อมได้ฝากข้อคิดไว้ให้น้องๆ นักเรียนศิษย์ปัจจุบันว่า 

“ ให้คิดเชิงอนาคต ไม่ใช่อยู่กับอนาคต ให้เรียนรู้จากอดีต ไม่ใช่ยึดติดกับอดีต สิ่งที่เราสามารถทำให้ดีที่สุดมีเพียง ปัจจุบัน ”.



 

17 พฤศจิกายน 2567
สัมภาษณ์: ชมรมสื่อสารองค์กรจูเนียร์ 2567
ถอดความ: นิ้ง - นางสาวโศภิต นิเวชพงศ์ศักดิ์ ชั้น ม.5
เรียบเรียง: เอมี่ - เด็กหญิงธรรม์มิตาว์ บุญวรพัฒน์ ชั้น ม.3
ภาพประกอบ: หยกพ้ง - เด็กชายพสิษฐ์ เรืองโชติเสถียร ชั้น ม.3

บทความที่เกี่ยวข้อง