ค่ายวิทยาศาสตร์ ม.ต้น ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร

Share


เป้าหมายของการจัดค่ายฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ให้มีทัศนคติที่ดี เกิดฉันทะ สนใจอยากเรียนรู้วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ได้ฝึกกระบวนการค้นหาความจริง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การสังเกต การตั้งคำถาม และการสรุปผล ฝึกประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ในการแก้ไขปัญหาทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีวิต เรามาดูกันสิว่า คุณครูเอิร์ธ (ครูน้องใหม่สาระวิชาวิทย์-คณิต) เล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เด็กๆ ม.1-3 ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ในครั้งนี้มีอะไรกันบ้าง

Day1
วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567
“นักลงทุนเจ้าปัญญา”

ในช่วงเช้านักเรียนได้พบกับวิทยากรและคณะ เพื่อทำกิจกรรม “นักลงทุนเจ้าปัญญา” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดการลงทุน โดยใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ และใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยกิจกรรมนี้เป็นการจำลองสถานการณ์การลงทุนที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าเงิน การเสื่อมค่าของเงินจากภาวะเงินเฟ้อ การวางแผนการเงินอย่างง่าย คือ ต้องมีการคำนวณทุนฉุกเฉินสำหรับ 3 – 6 เดือนเพื่อให้ไม่ขาดสภาพคล่องและตระหนักถึงการออมเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยให้นักเรียนจัดกลุ่ม 4 คน เพื่อวางแผนตัดสินใจการลงทุนในหุ้น พร้อมใช้กระบวนการลงทุนมาเป็นหลักในการตัดสินใจ นำข้อมูลของหุ้นแต่ละตัวกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมาเป็นเครื่องตัดสินใจในการซื้อหุ้น โดยต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่มูลค่าหุ้นจะขึ้นหรือลง และเมื่อมูลค่าหุ้นได้มีการปรับเปลี่ยนแล้วนักเรียนจะต้องคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างการตั้งเป้าหมายในการลงทุน หรือก็คือ จุดประสงค์ในการลงทุน ซึ่งจะทำให้การลงทุนของนั้นปลอดภัยมากขึ้น มีจุดหมายและสามารถจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น และตระหนักถึงว่า “ทำไมต้องลงทุน” เพราะหากถือเงินไว้เฉยๆ มูลค่าของเงินที่ถือจะมีค่าลดลงเรื่อยๆ จากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งกิจกรรมนี้นักเรียนจะได้รับการแนะนำเกี่ยวกับกองทุนแบบต่างๆ เช่น การฝากธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนกองทุนรวม การถือหุ้นบริษัทในสายต่างๆ เป็นต้น และมีกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้รู้จักความเสี่ยงจากการผันผวนของหุ้นในการลงทุน นักเรียนจะได้ฝึกฝนในการระวังตนและมีสติในการลงทุน โดยดูเหตุปัจจัยอย่างรอบคอบซึ่งเป็นการส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ มีสติในการทำสิ่งต่างๆ

“ผจญภัยในดินแดนแห่งความหลากหลาย”

เป็นกิจกรรมในช่วงบ่าย ธีม ‘วิชาชีวะวิทยา’ ในหัวข้อระบบนิเวศ ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อาหาร ที่มี “ผู้ผลิต” ที่ค่อยผลิตสารอาหาร เช่น พืช และมีผู้บริโภคที่จะเป็นผู้กินผู้ผลิตโดยมีทั้งผู้ที่กินพืช สัตว์และกินซาก และเมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลงก็จะมี “ผู้ย่อยสลาย” ที่จะทำหน้าที่เก็บกวาดซากในระบบนิเวศ และวิทยากรยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามกลุ่มนี้ที่ทำให้ระบบนิเวศสมดุล ทำให้นักเรียนตระหนักได้ว่า ควรรักษาสมดุลธรรมชาติ ไม่ให้มีสิ่งใดมากเกินไป หากมีผู้ผลิตมากไปทรัพยากรก็จะล้นจนส่งผลต่อสายพันธุ์อื่นๆ หรือหากผู้ล่ามีมากเกินไปก็จะทำให้สัตว์บางสายพันธุ์ขาดแหล่งอาหาร หรือบางสายพันธุ์เกิดการแพร่ระบาดมากเกินไป เป็นต้น เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีการใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะทดแทนไว้  ฟื้นฟูกลับมาดังเดิมได้ช้าจนระบบนิเวศเสียสมดุล ซึ่งสิ่งเหล่านี้นักเรียนเรียนรู้ว่า สุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาและเราทุกคน ทำให้เด็กหลายคนเกิดฉันทะในการเรียนวิชาซับเหงื่อโลก หลายคนเห็นความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม และทุกคนเกิดความใฝ่รู้ในการศึกษาวิทยาศาสตร์มากขึ้น
Day2
วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567
“นักวิทย์ คิดสร้างภาพ”

วันที่สองของค่ายวิทยาศาสตร์ ในช่วงเช้านักเรียนจะได้ศึกษาในกิจกรรม “นักวิทย์ คิดสร้างภาพ” โดยเป็นกิจกรรมที่บูรณาการในรายวิชาเคมีที่นักเรียนจะได้รู้การบันทึกภาพด้วยแสงโดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีกับรังสียูวีในแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหลักการของกล้องฟิล์มสมัยก่อน ที่จะให้แสงทำปฏิกิริยากับสารที่เคลือบบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งในกิจกรรมทางเคมีนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เพราะในชีวิตประจำวันนักเรียนจะต้องสัมผัสสารเคมีอยู่แล้ว ฉะนั้นนักเรียนจึงต้องรู้จักวิธีปฏิบัติเมื่อต้องใช้งาน และยังได้เรียนรู้ถึงข้อปฏิบัติตนเมื่อต้องใช้งานห้องปฏิบัติการ และทุกครั้งที่นักเรียนจะปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ครูและวิทยากรจะเป็นผู้ทบทวนขั้นตอนต่างๆ เพื่อความปลอดภัย และเป็นการเน้นย้ำให้นักเรียนมีสติตลอดเวลา มีความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึงในคำปรึกษาในเรื่องต่างๆ กับนักเรียนด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถของนักเรียนด้านศิลปะ คือ การ Marbling Paint คือ การหยอดสีและสร้างลวดลายบนผิวของของเหลวข้นหนืด เมื่อสร้างลวดลายเสร็จแล้วจึงนำกระดาษหรือผืนผ้าไปวางเพื่อดูสีขึ้นมาและกลายงานศิลปะที่สามารถสร้างรายได้และต่อยอดความสามารถของนักเรียนโดยมีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน

เล่าเรื่องโดย : ครูเอิร์ธ (คุณครูสาระวิชาวิทย์-คณิต) 
ภาพโดย : คุณครูสาระวิชาวิทย์-คณิต

คลิกที่นี่เพื่อชมภาพบรรยากาศเพิ่มเติม

บทความที่เกี่ยวข้อง