เกี่ยวกับเรา

ครูผู้เป็นกัลยาณมิตร

บทบาทครูผู้เป็นกัลยาณมิตร

ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (A Changing World) เราทุกคนกำลังเผชิญกับธรรมชาติที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสที่สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก ประกอบกับศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy) ซึ่งปัจจัยในการผลิตและแข่งขันกำลังเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่เป็นความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารของคนทุกวัยในโลกเปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน โดยเฉพาะรูปแบบการเรียนรู้ การปฏิสัมพันธ์กันของเด็กและวัยรุ่น แม้จะมีผลกระทบด้านบวกมากมายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาชีวิตอย่างเป็นองค์รวม กลับต้องใช้เวลากับเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย

“ครู” คือ หัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา เพราะ “ครู” คือ บุคคลที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดรองจากผู้ปกครองและเพื่อน
“ครู” จึงควรมีคุณลักษณะ และทักษะอะไรบ้างในการทำหน้าที่สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของโลกในโลกยุคพลิกผันนี้

โรงเรียนปัญญาประทีป ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในโรงเรียน นอกจากความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ และจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่ทำแล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในโรงเรียนต่างทำหน้าที่เสมือนผู้ใหญ่ในบ้านหลังที่สองของนักเรียน โดยมีหลักการสำคัญในความเป็นครู ดังนี้             

  • ให้ความรู้สึกปลอดภัยกับนักเรียนทุกคน ด้วยการระวังรักษาการกระทำทั้งทางกาย และวาจาของตนเองด้วยการรักษาศีล 5                               
  • ให้การบ่มเพาะพัฒนานักเรียนทุกคนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในฐานะกัลยาณมิตร ด้วยหลักกัลยาณมิตรธรรม และหลักพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
  • เป็นแบบอย่างของ “ผู้ที่ใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตนเองในสิ่งที่มีคุณค่าตลอดชีวิต” (Meaningful Life-Long Learners and Self-Developers) ทั้งในด้านการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning) และด้านชีวิตอย่างเป็นองค์รวม (Holistic Llife) เพราะเด็ก ข้อมูล ความรู้ และสิ่งต่างๆ ในโลกเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตอยู่เสมอ ครูจึงไม่ควรหยุดนิ่งในการฝึกฝนพัฒนาตน  “ได้ความเป็นครู เมื่อเกิดความเป็นนักเรียน” (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)                               
  • เป็นครูที่ทันสมัยและล้ำสมัย มีความรู้ความสามารถในวิชาที่ตนเองต้องจัดการเรียนรู้ โดยใช้ความรู้และกระบวนการสอนที่ทันสมัย ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง
  • เป็นแบบอย่างของ “พลเมืองที่ตื่นรู้ มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น”  (Actively Engaged Citizen) “ส่งต่อพลังงาม” ให้กับนักเรียน และช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาและขับเคลื่อน “พลังงาม”ของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

“ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน บางครั้งก็เกิดความหวั่นไหว เพลี่ยงพล้ำ ศรัทธาที่มีต่ออุดมคติ ที่ตั้งไว้ก็คลอนแคลนไปบ้าง เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างชวนให้ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ครูต้องมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการมุ่งสร้างสังคม สร้างชาติบ้านเมือง ด้วยการสร้างเด็กให้เป็นพลเมืองดี ผลพลอยได้ก็คือการสร้างโลกให้น่าอยู่ หากครูสิ้นหวังเสียอาชีพเดียว โลกจะล้มละลาย สภาวะของสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของครูบางส่วน ที่จิตวิญญาณของความเป็นครูไม่เข้มแข็งพอ” (อุบาสิกา รัญจวน อินทรกำแหง)
*กัลยาณมิตรธรรม ๗

(องค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ / qualities of a good friend)

  • ปิโย
    น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม / lovable; endearing
  • ครุ
    น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย / estimable; respectable; venerable                           
  • ภาวนีโย
    น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ / adorable; cultured; emulable
  • วตฺตา จ
    รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี / being a counsellor                               
  • วจนกฺขโม
    อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว / being a patient listener                              
  • คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา
    แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป / able to deliver deep discourses or to treat profound subjects
  • โน จฏฺฐาเน นิโยชเย
    ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย / never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end