เกี่ยวกับเรา

คำครู

"พุทธปัญญานำสมัย
Buddhist Wisdom for a Changing World"

พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร)

พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร)

Life is not easy. We face many challenges with regards to our relationship to the material world we live in, and our relationships with the people around us. We are challenged by our thoughts and emotions, which can be both a source of great joy and deep misery. Buddhism asserts the human capacity for education as our greatest resource in meeting all the challenges that life presents us with. The Buddhist teachings found in the Eightfold Path are, in effect, the greatest most powerful education system the world has ever seen. Embedding profound Buddhist developmental principles in the conventional school system is, we believe, the most intelligent means of providing an education that will enable our young people to flourish in an unpredictable, rapidly-changing world.

ชีวิตมนุษย์ไม่ง่าย เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายมากมาย อาทิเช่น ลักษณะความสัมพันธ์กับโลกรอบตัวฝ่ายวัตถุ และความสัมพันธ์กับสังคมและผู้รอบข้าง จิตใจของเราก็ท้าทายเหมือนกันในเมื่อเป็นเหตุให้เกิดทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ตลอดเวลา พุทธธรรมยื่นยันว่า ศักยภาพของมนุษย์ในการฝึกตนคือทรัพยากรอันยิ่งใหญ่ในการรับมือกับสิ่งท้าทายทั้งหลาย  มองโดยภาพรวมคำสั่งสอนทั้งหลายในอริยมรรคมีองค์แปด คือระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยปรากฏในโลก เราเชื่อมั่นว่าการฝังหลักการพัฒนาชีวิตมนุษย์อันลึกซึ่งของพุทธธรรมในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลตลอดถึงระดับอุดมศึกษาจะนำไปสู่ระบบการศึกษาที่จะให้คนรุ่นใหม่เจริญงอกงามได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่าวรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่ไม่นอน

คุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต

การก่อตั้งโรงเรียน คุณยายทอสี

โรงเรียนปัญญาประทีป ก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์และปณิธานของคุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต มารดาของคุณครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนทอสี ซึ่งเป็นโรงเรียนพุทธปัญญาในระดับอนุบาล-ประถมศึกษาที่ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี คุณยายสังเกตการอบรมฝึกฝนของเด็กนักเรียนโรงเรียนทอสีที่ใช้แนวทางพุทธปัญญา โดยพระพระอาจารย์ชยสาโร เมตตาให้การอบรมสั่งสอนชี้แนะ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และฝึกตนตามหลักพุทธศาสนา คุณยายเห็นความน่ารักมีสัมมาคารวะ กิริยามารยาทและคุณธรรมที่งอกงามมากขึ้นของเด็กๆ ความรู้ทางวิชาการก็ไม่ด้อยกว่าที่อื่น สอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงที่มีการแข่งขันสูงได้ คุณยายรู้สึกเสียดายโอกาสที่เด็กๆ ที่รับการอบรมฝึกฝนมาถูกทางแล้วจะต้องกระจายหายเข้าไปในระบบการศึกษาปัจจุบันที่เน้นแต่เรื่องวิชาการเป็นหลัก เน้นการเอาชนะผู้อื่นเพื่อตัวเองจะได้บริโภคมากที่สุด บางครั้งพูดถึงขั้นว่าผิดศีลธรรมบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้เศรษฐกิจเติบโตธุรกิจมีกำไรเป็นใช้ได้ จึงอยากให้เด็กนักเรียนโรงเรียนทอสีได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ให้พุทธปัญญาแข็งแรงสืบต่อไปในสังคม

ประจวบเหมาะกับคุณยายมีที่ดินขนาด 82 ไร่อยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ที่มีอากาศดีมาก บรรยากาศสัปปายะเหมาะแก่การเป็นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีงาม เดิมที่ดินผืนนี้ใช้เป็นสถานที่ให้คณะครูและนักเรียนประถม 5-6 โรงเรียนทอสีมาเข้าค่ายงอกงามซึ่งเป็นค่ายปฏิบัติธรรมประจำปี และได้สร้างเจดีย์ปัญญาประทีปองค์แรกไว้ มีนายดี ช่างหม้อ (คุณดุษฎี รักษ์มณี) และเด็กๆ โรงเรียนทอสีร่วมสร้างเจดีย์ ในตอนนั้นคุณยายเห็นว่าคณะครูและนักเรียนที่มาเข้าค่ายงอกงามไม่มีที่พัก บางปีฝนตก น้ำท่วม จึงสร้างศาลาปัญญาประทีปขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักและสถานที่ปฏิบัติธรรม

เมื่อคุณยายตั้งปณิธานว่าจะสร้างโรงเรียนพุทธปัญญาในระดับมัธยมศึกษา มีเสียงคัดค้านมากเนื่องจากทุกคนเกรงว่าคุณยายจะเหนื่อย เพราะการสร้างโรงเรียนเป็นงานที่ยากและหนัก แต่ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ไม่ย่อท้อของคุณยาย พี่น้องและลูกๆ ของคุณยายจึงช่วยกันระดมทุนสร้างอาคารหลังแรกของโรงเรียนปัญญาประทีป คืออาคารพระยาและคุณหญิงวิทุรธรรมพิเนตุ ตั้งชื่ออาคารตามบิดาและมารดาของคุณยายเพื่อเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะพระยาวิทุรธรรมพิเนตุที่ท่านให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามาก

ในเวลาเดียวกันนั้น พระอาจารย์ชยสาโร องค์ประธานที่ปรึกษาของโรงเรียนทอสีและปัญญาประทีปแนะนำให้ตั้งมูลนิธิปัญญาประทีปเพื่อให้เป็นประโยชน์สาธารณะ และหวังให้มีผู้ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนการสร้างโรงเรียน แต่การระดมทุนและบริจาคเพื่อสร้างโรงเรียนนั้นไม่ง่ายนัก สุดท้ายผู้ที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของโรงเรียนปัญญาประทีปก็คือคุณยายนั่นเอง คุณยายเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนทุกอย่าง ทั้งเงินและแรงใจ ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาหนักแค่ไหนก็ลุยอย่างเดียวไม่มีคำว่าท้อ ทำให้โรงเรียนทยอยสร้างอาคารที่จำเป็นได้พร้อมในเวลาอันรวดเร็ว และทยอยสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตามมาในปีต่อๆ ไป ด้วยเจตนารมณ์และปณิธานอันแรงกล้าของคุณยายนี้เอง ได้ชักชวนให้คุณครูอ้อน คุณครูวิทิต-วิทิต รัชชตาตะนันท์ และลูกๆ ของคุณยายมาร่วมสนับสนุน และขยายวงกว้างให้มีคณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียนมาร่วมบุกเบิกโรงเรียนปัญญาประทีป ให้เป็นโรงเรียนประจำที่จะช่วยบ่มเพาะชีวิตอันดีงามได้อย่างเต็มที่ เด็กได้อยู่กับธรรมชาติและมีความสุข ให้เด็กๆ ได้รู้จักช่วยตัวเอง ฝึกการพึ่งตนเอง ได้ฟังธรรมสม่ำเสมอ เป็นคนที่มีคุณธรรม ได้รู้จักความสุขในการที่จะช่วยเหลือตัวเอง พยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง และสร้างประโยชน์และความสุขให้ผู้อื่นคู่กันไป

ในที่สุดความมุ่งมั่นก็ผลิดอกออกอย่างเป็นรูปธรรม โรงเรียนปัญญาประทีปเป็นโรงเรียนพุทธปัญญาที่เปิดกว้างรับนักเรียนจากทั่วประเทศ ในรูปแบบโรงเรียนประจำสหศึกษา มุ่งพัฒนาชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต ได้รับการบ่มเพาะคุณธรรมและความเข้มแข็งทางจิตใจ สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เก่งและดี นักเรียนแต่ละรุ่นที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้มีความสามารถ มีคุณธรรมและความเข้มแข็งในจิตใจ สามารถเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้และแม้จะจบไปก็ยังกลับมาช่วยงานที่โรงเรียน ช่วยคุณครูดูแลรุ่นน้อง สร้างความปลื้มใจให้คุณยายและผู้ที่เฝ้าดูการเติบโตของโรงเรียน คุณครู นักเรียน และผู้ปกครองได้บ่มเพาะและพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กันในสังคมกัลยาณมิตรแห่งนี้

คุณยายมีความคิดว่าการที่เราจะมีความสุขได้ เราต้องคิดว่าเราควรจะทำอะไรเพื่อชาติและเพื่อสังคมเราได้บ้าง ในเมื่อเราสามารถช่วยสร้างโรงเรียน สร้างเด็ก สร้างมนุษย์ให้มีคุณธรรมเพื่อไปพัฒนาประเทศชาติ ให้เขาเป็นคนดีมีคุณธรรมอยู่ในศีลธรรมก็เป็นที่สุดปรารถนาแล้ว การที่อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้ประเทศชาติ ก็คิดว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ได้สร้างเยาวชนให้มีคุณธรรม เพื่ออบรมให้เป็นคนที่ช่วยประเทศชาติได้ต่อไป

คุณยายเป็นห่วงสังคมของเราที่มีความขัดแย้งสูง ผู้คนแยกไม่ออกแยกไม่เป็นว่าอะไรผิดอะไรถูก เอาแต่สิ่งที่ถูกใจไม่ถูกใจ คุณธรรมของสังคมเสื่อมลงไปมาก คุณยายมีศรัทธาว่าโรงเรียนที่มีพุทธปัญญาเป็นหลักในการสอนจะช่วยนำพาสังคมของเราสู่ความสงบร่มเย็น ผู้คนมีความสุขรู้จักพอรู้จักแบ่งปัน คุณยายจึงทุ่มเททุกอย่างเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนปัญญาประทีปเกิดขึ้นให้ได้ โดยหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นที่ห่วงใยในสังคมของเรามาศึกษา มาลองทำ ลองไปใช้ประโยชน์ 
                          
คุณยายขอขอบคุณพระพระอาจารย์ชยสาโรที่เป็นองค์ที่ปรึกษาใหญ่ ขอบคุณลูกๆ ที่ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะครูอ้อนและครูวิทิตที่เสียสละมาก ขอบคุณผู้สนับสนุนโรงเรียนปัญญาประทีป ขอบคุณคุณครูทั้งหลาย ที่เป็นผู้ที่ร่วมก่อสร้างโรงเรียนนี้และผลิตนักเรียนดีๆ ขอบคุณนักเรียนที่เมื่อออกไปแล้วก็รักโรงเรียน ได้กลับมาช่วยเหลือโรงเรียนอีก และขออนุโมทนาบุญทุกท่านที่มีศรัทธาในการน้อมนำพุทธปัญญามาช่วยจรรโลงการศึกษาเพื่อพาสังคมของเรา ให้มุ่งไปสู่ทิศทางแห่งความถูกต้องดีงามสงบร่มเย็นมีความเจริญก้าวหน้าในทางที่เป็นบุญเป็นกุศลสืบไป.

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปรีดา ทัศนประดิษฐ์

ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิปัญญาประทีป
สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตที่โรงเรียนปัญญาประทีป

เมื่อ โควิต19 ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก เรื่มเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 นั้น มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ความเสียหายที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับการเกิดสงครามโลก การสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง

แท้จริงร่างกาย มิเพียงต้องการภูมิคุ้มกันโรคที่ระบาดเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากจะอยู่ในโลกนี้อย่างปลอดภัยมีความผาสุก ได้ดำรงตนเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อความชั่วร้ายของสังคม บุคคลจะต้องมีภูมิคุ้มกันให้ชีวิต เพี่อการบรรลุเป้าหมายนั้น

ภูมิคุ้มกันดังกล่าว ไม่ต้องแสวงหาที่ใด มีอยู่แล้วในพระพุทธศาสนา ซึ่งจำต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ให้ติดตัวไปตลอดชีวิต  จึงเป็นจุดมุ่งหมายของโรงเรียนปัญญาประทึป ที่นอกจากจะสอนวิชาความรู้ตามหลักสากลแล้ว ยังปลูกฝังให้นักเรียนมีภูมิคุ้มกันดังกล่าวด้วย โดยการสอนให้แสวงหาความรู้และมีการฝึกปฏิบัติ เพี่อให้ออกไปเผชิญโลกภายนอกได้ ด้วยความมั่นใจ ด้วยวิธีการเช่นนี้ จึงต้องเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีสถานที่กว้างขวาง ถูกสุขลักษณะ มีสภาพแวดล้อมใกล้ชิดกับธรรมชาติ  ครูกับศิษย์ใกล้ชิดกัน ประหนึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นการพรากเด็กจากพ่อแม่ เด็กยังได้กลับบ้านไปสัมผัสกับโลกภายนอกเป็นระยะๆ

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กนี้ พระเดชพระคุณพระอาจารย์ชยสาโร ได้กรุณาดูแลอย่างใกล้ชิด และได้พบปะเด็กอย่างสม่ำเสมอศิษย์เก่าของโรงเรียน ได้พิสูจน์ว่าภูมิคุ้มกันที่ได้ติดตัวไปจากโรงเรียน ช่วยทั้งด้านการเรียนรู้ วิชาการ และการดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี มีความผูกพันกับบ้านที่สองของตน คือโรงเรียนปัญญาประทีป.

ดร.วิทิต รัชชตาตะนันท์

ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป

คณะบุคคลที่ก่อตั้งโรงเรียนปัญญาประทีป มีอุดมการณ์ร่วมกัน ในการที่จะสร้างโรงเรียนประจำวิถีพุทธระดับมัธยม หลักสูตรบ่มเพาะชีวิต เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียน ที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเพราะมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง และจะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาสังคมไทย ให้มีความสงบสุข รู้จักพอ ทันโลก และดำเนินไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล
                                
ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 และได้ประกาศถึงเจตนารมณ์ ในการจัดตั้งโรงเรียนปัญญาประทีป ซึ่งมีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้

1. ต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เคยล้าสมัย เหมาะกับทุกกาลเทศะ และทุกกลุ่มอายุ และนำสู่การปฏิบัติได้จริงในระดับมัธยม

2. ต้องการทำการศึกษาที่สามารถนำสังคมไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ตามกระแสสังคม ซึ่งมักเป็นไปตามความบีบคั้นของกิเลสเป็นหลัก มุ่งแก้ปัญหาสังคมที่รากเหง้า เพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดิน ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา

3. เอาคุณภาพชีวิตของคนเป็นเป้าหมายหลัก เน้นคุณภาพและคุณค่ามากกว่าเน้นปริมาณ หรือมูลค่า ไม่เอาสาระวิชาการเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง

4. เป็นองค์รวม ครบถ้วน มีความสมบูรณ์ และสมดุล พัฒนาทั้งด้านนอก คือความสัมพันธ์กับโลกวัตถุ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม ตลอดจนพัฒนาด้านวิชาการและวิชาชีวิตที่มีความเกื้อกูลต่อกันและกัน และฝึกหัดขัดเกลาและบ่มเพาะภายในพร้อมกันไป คือด้านจิตใจ และปัญญา

5. ต้องการให้โรงเรียนปัญญาประทีป เป็นโรงเรียนต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อประโยชน์ให้กับสังคม และชุมชนอย่างแท้จริง

จากประสบการณ์ทำงานสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมมีความมั่นใจว่าการศึกษาพุทธปัญญา ที่เราร่วมกันจัดทำอยู่นั้น มาถูกทางและมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคคลากรที่มีพุทธปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เป็นกลุ่มบุคคล แม้จะเล็กมากๆ ที่จะช่วยนำพาสังคมให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นบุญเป็นกุศลมากขึ้น ช่วยเป็นกำลังใจและเป็นแบบอย่างให้คนรอบข้างอยากเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองทั้งภายนอกและภายใน ชุมชนกัลยาณมิตรของชาวปัญญาประทีป ค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้น และดำเนินไปด้วยความสอดคล้องกับความต้องการของคุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและผู้ที่ช่วยสนับสนุนทุกๆ อย่างที่จะให้โรงเรียนตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงและสง่างาม คุณยายทอสีจากพวกเราไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กรกฏาคม 2563 และได้ฝากมรดกที่ล้ำค่าคือโรงเรียนปัญญาประทีป ที่จะคอยสืบสานอุดมการณ์และปณิธานของคุณยายที่จะให้สังคมไทยได้รับประโยชน์และความสุข ได้รับความสงบร่มเย็นมากขึ้นจากหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมตั้งปณิธานว่าในช่วงชีวิตที่เหลือ จะขออุทิศตนในการพัฒนาการศึกษาพุทธปัญญาอย่างต่อเนื่อง และใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันให้รวมพลัง เพื่อผลักดันงานการศึกษาพุทธปัญญานี้ให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติของเราทุกคน.

ครูอ้อน -บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนปัญญาประทีป เกิดจากการที่คุณยายทอสี (คุณแม่ของครูอ้อน) เห็นพัฒนาการที่ดีงามของเด็กๆนักเรียนโรงเรียนทอสีทั้งกิริยามารยาท ความมีน้ำใจและคุณธรรมต่างๆ ความกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นผลจากการอบรมบ่มเพาะในระบบการศึกษาพุทธปัญญา และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครองด้วยความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คุณยายรู้สึกว่า จะเป็นเรื่องวิเศษมาก หากเด็กๆ เรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 จากโรงเรียนทอสีแล้ว ยังมีโอกาสได้รับการบ่มเพาะอย่างนี้ต่อในระดับมัธยม ประกอบกับมีผู้ปกครองหลายท่านปรารภกับคุณยายและครูอ้อนเสมอว่า อยากให้โรงเรียนทอสีเปิดระดับมัธยมในแนวทางเดียวกัน

ใจครูอ้อนเองก็มีความประสงค์เช่นนั้น เพราะมั่นใจและเห็นประโยชน์ของการศึกษาวิถีพุทธปัญญาอย่างชัดเจนว่า เป็นการศึกษาสำหรับทุกระดับชั้น การบ่มเพาะเยาวชนให้ทั้งเก่งและดีที่ทำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแน่นอนและอย่างยั่งยืน

คุณยายทอสีมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและมุ่งมั่นที่จะสร้างโรงเรียนมัธยมให้สำเร็จ ท่านเห็นด้วยกับพระอาจารย์ชยสาโรว่า การจะบ่มเพาะเยาวชนให้ได้ผลเต็มที่ ควรสร้างโรงเรียนประจำ และปากช่องเป็นที่ๆ เหมาะสมทั้งด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศ ระยะทางก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เกินไป คุณยายจึงยกที่ดินกว่า 80 ไร่ที่ปากช่องให้สร้างโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ พร้อมทุ่มกำลังทรัพย์อุปถัมภ์ในทุกๆด้านเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จได้ โดยปรารภว่า... แม้จะมีนักเรียนเพียงคนเดียว ยายก็อยากจะให้เปิดโรงเรียนนี้... และด้วยความปรารถนาที่จะสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน  คุณยายจึงทำตามที่พระอาจารย์ชยสาโรแนะนำว่า โรงเรียนนี้ควรจะเป็นโรงเรียนต้นแบบการศึกษาวิธีพุทธปัญญา ควรจะเป็นของมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร นี่จึงเป็นที่มาของมูลนิธิปัญญาประทีปและโรงเรียนปัญญาประทีป การทำการศึกษาระดับมัธยมเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเราทุกคน การดูแลเด็กวัยรุ่นทั้งหญิงและชายในโรงเรียนประจำต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องง่าย หลักสูตรการศึกษาวิถีพุทธปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นให้ได้ประโยชน์สูงสุด ความร่วมมือจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่โรงเรียนเรียกร้อง  ด้วยการนำทางของพระอาจารย์ชยสาโร องค์ประธานที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่อง คำแนะนำและความเอาใจใส่ของรองศาสตราจารย์นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ ประธานกรรมการมูลนิธิปัญญาประทีป การทำงานของทีมงานทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสุดกำลัง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนปัญญาประทีปได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นชัดว่า การศึกษาพุทธปัญญานำสมัย สามารถเป็นโรงเรียนต้นแบบแห่งชุมชนกัลยาณมิตร ที่มีนักศึกษา 2 ระดับ คือระดับวัยรุ่นและระดับผู้ใหญ่ ที่พร้อมจะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างประโยชน์และความสุขแก่ตนเองและผู้อื่น เพื่อเป็นมนุษย์ที่ทั้งเก่ง ทั้งดี และมีความสุข

คงไม่มีการตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์และคุณยายทอสีผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ได้ดีเท่าการตั้งปณิธานที่จะพัฒนาและสานต่อการศึกษาพุทธปัญญาไทยให้ยั่งยืน สามารถขยายประโยชน์และความสุขในวงกว้างยิ่งขึ้น

พวกเราขอกราบสักการะพระอาจารย์ชยสาโรและครูบาอาจารย์ทุกๆ ท่าน กราบขอบพระคุณคุณยายทอสี รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ และผู้มีอุปการคุณทุกๆท่าน ต่อโรงเรียนปัญญาประทีปและมูลนิธิปัญญาประทีปมา ณ ที่นี้.