การเรียนรู้

เรียนรู้แบบปัญญาประทีป

      โรงเรียนปัญญาประทีป เชื่อในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรม ด้วยหลักสูตรพุทธปัญญาที่มุ่งเน้นทั้งวิชาการและวิชาชีวิต เน้นการบ่มเพาะมนุษย์ให้มีความเข้าใจในตัวเอง สามารถเลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเอง และเติบโตไปเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างสังคมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

      ในทางพระพุทธศาสนา ความหมายของคำว่า ‘ดี’ ไม่อาจแยกขาดจากคำว่า ‘ฉลาด’ ได้เลย ดีสำหรับชาวพุทธนั้น คือ ‘กุศล’ ซึ่งมีความหมายรวมถึงความฉลาดในการใช้ชีวิตด้วย ผู้ที่มีความฉลาดในการใช้ชีวิตย่อมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างดี และผู้ที่ทำความดีก็ต้องใช้ความฉลาดในการกระทำความดีนั้นๆ

      โรงเรียนปัญญาประทีปจัดการเรียนรู้โดยมองว่า เด็กนักเรียนไม่ได้เรียนรู้เพียงเพื่อเติบโตไปมีหน้าที่การงานที่ดีเท่านั้น ระหว่างทางของการเรียนรู้ ผู้เรียนทุกคนต่างต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการทำหน้าที่ในบทบาทอื่นๆ อาทิ การเป็นลูกที่ดี เป็นคู่ชีวิตที่ดี หรือเป็นพ่อแม่ที่ดีในอนาคต ดังนั้น นอกจากผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาไปเป็นผู้ที่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ดีในสังคมด้วย โดยอาศัยการหมั่นฝึกตน ลดละสิ่งเศร้าหมองในจิตใจ และสร้างสิ่งดีงามให้เกิดเพิ่มมากขึ้น
 


หลักสูตรพุทธปัญญา

      การศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนบ่มเพาะชีวิต (Boarding School) จะหล่อหลอมให้นักเรียนได้ค้นหาชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้ด้านวิชาการและทักษะด้านวิชาชีพ พร้อมกันนี้ นักเรียนยังจะได้ฝึกฝนเพื่อเรียนรู้วิธีการเท่าทันอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผ่านหลักไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา (พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา)

      การเรียนการสอนด้านวิชาการตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางโรงเรียนจัดกระบวนการไว้ตามมาตรฐาน แต่สิ่งที่ปัญญาประทีปให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือการศึกษาและพัฒนาชีวิตแบบองค์รวม ทางโรงเรียนจัดการศึกษาด้วยความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพในการเรียนรู้และฝึกฝน และด้วยนักเรียนแต่ละคนมีความสนใจและความถนัดที่แตกต่างหลากหลาย การออกแบบหลักสูตรจึงเป็นการพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล ผ่านการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง นักเรียน ครู และผู้ปกครอง
 

     
      ที่ปัญญาประทีป ผู้เรียนทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับเด็ก (นักเรียน) และผู้ใหญ่ (ครู และผู้ปกครอง) จะได้เรียนรู้ผ่านหลักการ ‘2 นอก 2 ใน’ อันเป็นหลักการศึกษาที่มีรากฐานมาจาก หลักภาวนา 4 และไตรสิกขา

      2 นอก แบ่งออกเป็น ‘กายภาวนา’ คือการพัฒนาทางกาย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับวัตถุสิ่งแวดล้อมรอบตัว และ ‘ศีลภาวนา’ ซึ่งก็คือการพัฒนาทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้คนหรือสิ่งมีชีวิตในสังคม รวมทั้งทักษะในการสื่อสาร

      2 ใน แบ่งออกเป็น ‘จิตภาวนา’ คือการพัฒนาด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก การมีสมาธิ ความตั้งมั่น ฯลฯ และ ‘ปัญญาภาวนา’ คือการพัฒนาด้านความนึกคิด ความรู้รอบ การคิดเป็น แยกแยะได้

      นักเรียนปัญญาประทีปจะได้รับการฝึกฝนให้เกิดทักษะในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น โดยมีกัลยาณมิตรคือครูและผู้ปกครองเป็นผู้ช่วยสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ดี เร่ิมต้นจากการสร้างความรู้สึกให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองทั้งในส่วนที่ดีและส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ให้การยอมรับความจริงนี้เป็นฐานของการพัฒนาตนเองต่อไป

> ดาวน์โหลดไฟล์รายละเอียด 2 นอก 2 ใน 2 ระดับ



ครูคนแรกของลูก

      เพราะชีวิตของเด็กๆ มีเหตุปัจจัยสำคัญเป็นการกระทำและความคิดเห็นของผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อม การที่เด็กจะสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้นั้น จึงจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยเกื้อหนุน การเรียนรู้ภายในโรงเรียนปัญญาประทีป จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นที่การพัฒนา ‘ครู’ และ ‘ผู้ปกครอง’ อันเป็นบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดและอยู่เบื้องหลังการเติบโตของเด็กๆ ทุกคน

      ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ อาทิ ทักษะการวางใจ เปิดใจ และเปิดโอกาสให้ลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นได้ทดลองรับผิดชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ฝึกให้เขาได้เรียนรู้ ยอมรับ และรู้ผลจากการกระทำของตัวเอง ผ่านกระบวนการที่ออกแบบมาให้ผู้ปกครองได้มีบทบาทเป็นผู้เรียนด้วย เช่น กิจกรรมห้องเรียนครูคนแรกของลูก การปฏิบัติธรรม กิจกรรมผู้ปกครองจิตอาสา อย่างเช่นการเป็นโค้ชในวิชาสัมมาธุรกิจหรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนในวันหยุด ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ปกครองได้เกิดประสบการณ์และมีความรู้ สำหรับพร้อมนำไปใช้ต่อยอดในการเลี้ยงดูลูกและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

      ในขณะเดียวกัน ครู ผู้มีหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่และเป็นประทีปนำทางให้แก่เด็กๆ เอง ก็จำเป็นที่จะต้องได้ผ่านการบ่มเพาะอบรมพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่จัดสรรไว้ ทั้งธรรมะคาเฟ่ กิจกรรมศึกษาดูงาน การทัศนศึกษา การปฏิบัติธรรมทั้งในรูปแบบและในวิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ เพราะครูที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้างเหตุปัจจัยในการเรียนรู้ที่ดีให้แก่ครูด้วยเช่นกัน ครูที่ดี คือครูที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และจริยธรรม เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารเรื่องยากให้เข้าใจโดยง่าย สามารถชี้แนะ และมีทักษะในการตั้งคำถามให้นักเรียนได้ทดลองค้นหาทางออกของปัญหาด้วยตัวของเขาเอง ฯลฯ ครูที่ดีคือกัลยาณมิตร และพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน
 




การจัดลำดับไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จของชีวิต

      ชาวปัญญาประทีปไม่มีกระบวนการสรุปวัดผลด้วยการจัดลำดับผู้เรียนตามคะแนน การวัดผลความสำเร็จอาจไม่ใช่การจัดลำดับภายในห้อง แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญภายในใจของผู้เรียนเอง นอกเหนือจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรวิชาการและวิชาชีวิตแล้ว การเรียนการสอนในปัญญาประทีปยังเปิดกว้างให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจและเหมาะสมกับตัวเอง

      การเรียนรู้ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไม่มีการแบ่งสายการเรียนแยกขาดจากกัน แต่นักเรียนในห้องทุกคนจะเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีครูเป็นผู้คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบกลุ่มขนาดเล็ก แบบตัวต่อตัว ตลอดจนการจัดกิจกรรมและเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้กับนักเรียน

      อย่างไรก็ตาม เด็กๆ จะถูกส่งเสริมให้ได้มีโอกาสออกไปเปิดโลกนอกรั้วโรงเรียนด้วย อย่างการไปร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนอื่นๆ การไปออก ‘ทริปเรียนรู้โลกนอกกะลา’ การเข้าร่วมแข่งขันในรายการต่างๆ เพื่อที่ตัวเด็กเองจะได้ตรวจสอบได้ในระดับหนึ่งว่า การเรียนรู้ของตนเองอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับสังคมในภาพกว้าง เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาทบทวนตัวเองและพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม

      ‘การแข่งขันกับตัวเอง’ เป็นสิ่งสำคัญที่พระอาจารย์ชยสาโร องค์ประธานที่ปรึกษาของโรงเรียนปัญญาประทีป ได้เมตตาให้แนวทางไว้ หากนักเรียนแต่ละคนสามารถพัฒนาตัวเองในวันนี้ให้ดีขึ้นกว่าในวันที่ผ่านมา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง การแข่งขันกับตัวเองไม่ใช่การสร้างแรงกดดันหรือความเครียด แต่เป็นการเอื้อให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เข้าใจตัวเอง และมีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองได้อยู่เสมอ

      อย่างไรก็ดี แม้นักเรียนปัญญาประทีปจะไม่ได้มีวัฒนธรรมการเรียนพิเศษ แต่ทางโรงเรียนก็เชื่อว่า ฉันทะ ความอดทน ความมุ่งมั่น และความตั้งใจจริงจะช่วยให้เด็กๆ สามารถไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ได้ไม่มากก็น้อย เด็กๆ ปัญญาประทีปทุกคนสามารถตั้งเป้าหมายและวัดผลระหว่างทาง เพื่อออกแบบเส้นทางที่จะทำให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้ โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาหลัก
 


ชีวิตในปัญญาประทีป กับการเป็นประทีปของกันและกัน

      เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ประสบการณ์การเรียนรู้ภายในรั้วโรงเรียนปัญญาประทีปจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ

      เรามีวัฒนธรรม ‘วิ่งชีวิต’ การสวดมนต์ทำวัตร และการเจริญสติในช่วงเช้า ที่ถือเป็นการฝึกวินัยให้กับทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะที่การอยู่ร่วมกันภายในหอพักนักเรียน จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ฝึกฝนตัวเองมากขึ้น มีเวลาในการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับรุ่นพี่รุ่นน้องมากขึ้น เป็นการฝึกความรับผิดชอบทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และต่อส่วนร่วม ผ่านการสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยอยู่ภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของครูพ่อหรือครูแม่

      นอกจากการดูแลจากกลุ่มคุณครูแล้ว เด็กๆ ปัญญาประทีปยังจะได้เรียนรู้ในการบริหารและจัดการชีวิตด้วยตัวเขาเองด้วย การใช้ชีวิตของนักเรียนจะใช้การแบ่ง ‘ฝูง’ เป็นโครงสร้างเบื้องต้นในการดูแลกันและกัน ในแต่ละฝูงประกอบด้วยนักเรียนคละชั้น มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นเพื่อน ในสังคมกัลยาณมิตรแห่งนี้ เด็กๆ จะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวเข้าหากัน การแก้ปัญหา การรับมือกับสถานการณ์และอารมณ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติตามช่วงวัยและตามธรรมชาติ ที่ในบางเวลาเด็กๆ อาจเกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความไม่เข้าใจในตัวเอง ไม่เข้าใจผู้อื่น จนกระทั่งอาจเกิดเป็นปัญหาระหว่างกันขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญมากซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในห้วงเวลาที่นักเรียนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงหรือตกอยู่ในสถานการณ์เชิงลบ คือการที่เขาได้มี ‘วิชา’ และมี ‘เครื่องมือ’ เป็นทักษะติดตัวไว้ใช้งาน
 

     
     ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ชาวปัญญาประทีปจะนำมาใช้เพื่อเปิดวงสนทนา เพื่อเรียนรู้ที่จะแสดงออกทางความคิด ความเห็น ความรู้สึก โดยหยิบเอาการ ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ มาใช้สื่อสารในวง ให้ทุกๆ คนที่นั่งอยู่ในวงกลมได้มีโอกาสทั้งรับฟังและพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งยังเป็นการช่วยสลายอัตตาที่อาจจะสะสมอยู่ภายในใจให้ลดลงด้วย

      นอกจากนี้ ชาวปัญญาประทีปยังมีวัฒนธรรม ‘ต่อเทียน’ หรือ Pay It Forward ที่รุ่นพี่จะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับรุ่นน้อง อาจเป็นการส่งต่อทักษะ คุณธรรม หรือคุณค่าบางอย่างจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งยังประยุกต์ไปใช้กับการส่งต่อสิ่งดีๆ ระหว่างกันของครูกับนักเรียน เพื่อนกับเพื่อน เด็กกับผู้ปกครอง ฯลฯ อีกด้วย

      โรงเรียนปัญญาประทีป มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะสามารถบ่มเพาะชีวิตของเด็กคนหนึ่งในทุกๆ มิติ คุณครูจะทำความเข้าใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคน และทำความรู้จักกับครอบครัวของนักเรียน เพื่อร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่ตรงกับเป้าหมายชีวิต ครู ผู้ปกครอง และเด็กจะเป็นผู้เรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เกิดเป็นบรรยากาศแห่งความอบอุ่นและความใกล้ชิด เสมือนแต่ละคนได้เป็นประทีปให้แก่กันและกัน