‘Dhamma Cafe : ธรรมะคาเฟ่’ กับคุณก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล

Share

คุณก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล นักแสดงขวัญใจของใครหลายๆ คน รวมถึงทาสแมวทั้งหลาย ได้ให้เกียรติมาเป็นแขกคนพิเศษล้อมวงพูดคุยแบบใกล้ชิด ในกิจกรรม ‘Dhamma Cafe : ธรรมะคาเฟ่’ ห้องเรียนธรรมะของคุณครู  และพี่ๆ เจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงเรียนปัญญาประทีป 

ทำความรู้จัก..ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล 
จากครอบครัวที่เติบโตผ่านระบบการศึกษาทั่วไปที่ผลิตคนทำงาน ไม่ได้มีวิสัยทัศน์อะไรที่มากกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว จุดเริ่มต้นที่อยากให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในหนังครั้งแรกจากเรื่อง The Mask of Zorro อยากขี่ม้าฟันดาบเหมือนนักแสดงในหนังเท่านั้น...

ช่วงแรกของการเข้ามาสู่วงการ Passion ในการทำงานตอนนั้นมองว่า ‘นักแสดง’ ขายการทำงาน ขายคุณภาพของการแสดง ‘ดารา’ ขายชื่อเสียง … ในเวลานั้นจึงต้องการเข้าใจศาสตร์การแสดง และภาพยนตร์อย่างแตกฉาน อยากทำงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่ความรู้ในตอนนั้นมีและเป็นไปได้ ช่วงแรกไม่ค่อยสนใจความเป็นดารา แต่ก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดว่า ..“เป็นทั้งสองอย่างก็ได้ไม่เห็นเป็นไร..”
ชายหนุ่มผู้ที่ก้าวข้ามกำแพงแห่งความกลัว เพื่อทำงานศิลปะที่ตัวเองรัก.. 

’ความกลัวไม่มีตัวตน แต่มีผลต่อชีวิต’
ความกลัวมันจับต้องไม่ได้ แต่มีผลต่อชีวิตเรา ส่วนใหญ่แล้วคนที่ผลัดวัน คนที่ไม่มีความชัดเจน หรือคนที่มีความลังเลสงสัย เป็นเพราะว่าในจิตใจพกไว้ด้วยความกลัวหลายรูปแบบ.. กลัวยากจน กลัวผิดหวัง กลัวคำวิพากย์วิจารณ์จากคนอื่น กลัวตาย กลัวสูญเสียความรัก กลัวเสียทรัพย์สินสิ่งของ.. คิดถึงภาพของคนที่ครอบครองความกลัวเหล่านี้อยู่ เก็บไว้เป็นบรรยากาศรอบตัว เค้าจะเดินอย่างไร เค้าจะกล้าทำอะไรไหม ...
แต่ถ้าเราเห็น ‘ความกลัว’ ด้วยสมาธิที่สงบนิ่ง เราก็จะเห็นว่า มันเกิดขึ้น มีผลต่อร่างกาย มีผลต่อลมหายใจ เราก็จะเห็นกฏของ ‘อนิจจัง’ ที่อยู่เบื้องหลังความกลัวนั้น เราก็จะเข้าใจว่า “ความกลัวนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา มันมาแล้วก็ไป อย่าไปยึดถือแล้วหยิบมาเป็นแว่น แล้วใส่แว่นความกลัวมองโลก”
งานศิลปะ..ทำให้ผมกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง และสื่อสารมันออกมา เมื่อผมทำงานศิลปะ เวลามีใครมาถามว่า หมายถึงอะไร ผมบอกไปว่าไม่ต้องสนใจว่าจะหมายถึงอะไร “เหมือนเวลามองท้องฟ้าแล้วเห็นเมฆเป็นรูปนั้นรูปนี้ เราจะไปถามใครไหมว่ารูปอะไร ..จะเป็นรูปอะไร ก็ปล่อยไป ก็แค่ยอมรับสิ่งที่เป็น”
ผมใช้สีในการ expressed สิ่งที่ภาษาให้ไม่ได้ งานศิลปะของผมก็เลยเป็นงานที่รวบรวมอารมณ์ ความรู้สึก ในการแทนค่าต่างๆ บางครั้งผมแทนค่าสีเหลืองเป็น 'ปัญญา' แทนค่าสีแดงเป็น 'ความโกรธ' หรือบางครั้งก็แทนค่าสีแดงว่าเป็น 'ความมุ่งมั่น' ถ้าคนมาถามผมว่าหมายความว่าอะไร ผมก็ต้องตอบว่า ..
“เธอต้องดูใจตัวเองว่า เธอรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นมัน ถ้าเธอเห็นแล้วสงสัย ก็แค่ยอมรับว่าสงสัย ถ้าฉันไม่ให้คำตอบ แล้วเธอหงุดหงิด ก็ต้องยอมรับว่า เธอหงุดหงิดแล้ว..”

ศึกษาธรรมะ.. ‘ผมเบื่อความทุกข์’
ผมได้เงิน ได้งาน ได้ทุกอย่างตามที่ตัวเองเช็คลิสต์ไว้ แต่ความสุขไม่มี เลยตั้งคำถามตัวเองว่า ‘ทุกข์เพราะอะไร’ สุดท้าย ทุกข์เพราะความคิดหลายอย่างรุมล้อม คิดว่าความทุกข์เหล่านั้นเป็นเรา ก็เลยทำให้เริ่มกลับมาตั้งคำถามว่า ‘อะไรเป็นแก่นสาร' กันแน่ แล้วก็พบว่าแก่นสารนั้นจริงๆ อยู่ที่ความปราณีตที่อยู่ในลมหายใจของเรา ‘ความปราณีตนั้นใกล้ จนไกล’ จริงๆ เป็นเรื่องธรรมดา และง่ายมาก แต่เราเอาไว้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะเราใช้ชีวิตอยู่กับความผิดปกติจนเป็นปกติ และเราก็ยึดเอาความผิดปกติมาเป็นสรณะของเรา โดยเต็มใจ...ซึ่งก็ต้องสอนตัวเองต่อไป...
ตอนนี้อยู่กับความทุกข์ได้ โดยไม่ต้องดิ้นรน เมื่อก่อนพอทุกข์เราก็จะดิ้นรน เพราะเราวางใจวางจิตไม่เป็น พอจิตใจถูกฝึกมาแล้วให้อยู่เหนือความสุขและความทุกข์บ้างเสี้ยวเวลานึง มันก็จะจำอารมณ์นั้นได้ว่า สุขและทุกข์ มันเป็นอย่างนี้
‘ปัญญา’ เวลาเกิดขึ้นในจิตใจ .. “เปรียบเหมือนคนเขียนหนังสือในตอนที่มีแสงเทียน แม้ยามที่แสงเทียนดับไปแล้ว ตัวหนังสือไม่เคยหายไป” ...

สรุปความส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ คุณก๊อต-จิรายุ ในกิจกรรมธรรมะคาเฟ่ ช่วงปิดภาคการศึกษาที่ 1/2567 โรงเรียนต้องขอขอบคุณที่คุณก๊อตสละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองแง่คิดในการดำเนินชีวิตกับคุณครูและพี่เจ้าหน้าที่ทุกคน.

บทความที่เกี่ยวข้อง