“ชีวิต คือ อะไร”
คำถามแรกจากพระอาจารย์ฟูกิจ ถามคุณครูที่เข้าร่วม workshop การอบรมเรื่อง ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ก่อนที่พระอาจารย์จะตั้งคำถามนี้ ท่านได้เริ่มกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การจัดที่นั่ง หลังจากที่ทุกคนกราบพระรัตนตรัยพระอาจารย์ฟูกิจ ได้บอกให้คุณครูขยับตัวจากการนั่งเป็นรูป ‘วงกลม’ ให้ทุกคนมานั่งใกล้ๆ พระอาจารย์ เป็นรูป ‘พัด’ พร้อมกับบอกเหตุผลว่า เพื่อ พระอาจารย์ จะได้ไม่ต้องหันหน้าไปมา ครูทุกคนอยู่ในสายตาของท่าน ครูแต่ละคนต่างค่อยๆ ขยับจัดที่นั่งตามประสงค์ของพระอาจารย์
อย่าถามหาความหมายของชีวิต...
แต่เรานั้นให้ความหมายของชีวิตว่าอย่างไร...
การแลกเปลี่ยนความหมายของ ‘ชีวิต’ ของครูแต่ละคนค่อยๆ เริ่มต้นขึ้น ก่อนที่พระอาจารย์ฟูกิจ จะสรุปคำตอบให้ว่า ‘ชีวิต คือ ทุกสิ่ง’
ท่านถามต่อว่า ‘อะไรทำให้เรามีชีวิต’
คำตอบ - เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่กับ ‘ทุกสิ่ง’ ได้ ไม่ใช่อยู่ได้กับแค่บางสิ่ง เราก็จะมีชีวิตขึ้นมา ไม่เกิดความเป็นตัวตน แต่เกิดการเกื้อกูลกัน คือ การทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่
• ถ้าเชื่อมโยงมาถึงสิ่งที่กำลังจะทำกันในสองวันนี้ คือ workshop เรื่อง วงกลมกัลยาณมิตร ของ ครู กับ นักเรียน สิ่งที่ครู หรือผู้นำวงฯ ต้องทำ ก็คือ ต้องทำให้นักเรียนเป็น ‘ทุกสิ่ง’ โดยท่านได้ให้หลักการในเรื่องนี้ไว้ ๔ คำสั้นๆ คือ ‘ที่ว่าง - เชื่อม - น่าจะ - จริง’
• ระหว่างทางกระบวนการเรียนรู้ได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากฝึกเป็น ‘ที่ว่าง’ เชื่อมโยงของคำทั้ง ๔ ที่ค่อยๆ ถูกทำให้ปรากฎขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นร่วมกัน เราทั้งหมดทั้ง พอจ. และคุณครู เราต่างเป็นทั้งครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน
พระอาจารย์บอกกับคุณครูว่า “ที่ว่างนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เราจะเป็นใครก็ได้ โดยไม่ต้องมีความกังวล” ท่านได้เปรียบเทียบกับการฟังวิทยุในสมัยก่อนที่ต้องค่อยๆ ‘จูนคลื่น’ หมุนซ้ายที ขวาที เพื่อให้เกิด ‘ความชัด’ ซึ่งการทำวงกลมกัลยาณมิตร เราก็ต้อง ‘จูนใจ’ ให้ว่าง วางจากอคติที่ดีและไม่ดี เพื่อให้เกิด ‘ความชัด’ เช่นเดียวกัน
ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างสูง ระหว่างการอบรมเข้าใจแล้วว่า ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ ไม่ใช่การติดในรูปแบบด้วยแค่การนั่งเป็นวงกลม แล้วทำกิจกรรมตามลำดับ 1-2-3-4... เท่านั้น แต่การที่ท่านให้ครูเปลี่ยนการนั่งตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรม ก็เพื่อที่จะทำให้ครูเห็นว่า ท่านต้องการจะเป็น ‘ที่ว่าง’ และ ‘เชื่อม’ กับครูทุกคนอย่างแท้จริง ต่อจากนี้ คงเป็นหน้าที่ของครูแต่ละคนที่ต้องหมั่นฝึกตนเป็น ‘ที่ว่าง’ และ ‘ฝึกเชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกัน (สมานัตตตา)’ แต่จะด้วยวิธีการอย่างไรคงต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละคน
การอบรมในครั้งนี้เป็นการนำหลักการการทำวงกลมกัลยาณมิตรที่ พระอาจารย์ชยสาโร ได้เคยให้ไว้ รวมกับแนวทางการทำวงกลมกัลยาณมิตรที่ พระอาจารย์ฟูกิจ ได้เคยไปเรียนมา นำมาถ่ายทอดและจัดเป็นกิจกรรม workshop เพื่อส่งมอบเครื่องมือให้คุณครูเข้าใจในความหมายของชีวิต และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาความสัมพันธ์ ความเข้าอกเข้าใจตนเอง และผู้อื่นให้ดีกันยิ่งๆ ขึ้นไป ขออนุโมทนาสาธุกับคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน