วันพุธ ที่ 20 มีนาคม 2567 โรงเรียนปัญญาประทีป โดยครูเปา - วิเชษฐ์ โพธิวิสุทธิ์วาที ผู้อำนวนการโรงเรียน และครูแจ๊ด - พัชนา มหพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้กับนิสิต ระดับปริญญาตรี ในหัวข้อ “ภาวะผู้นำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ความเป็นผู้นำทางการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resource Management) และความเป็นผู้นำสร้างพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ (All for Quality Education) ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เราจะสร้างภาวะผู้นำ (Leardership) ให้กับผู้เรียนได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ?
เราเชื่อว่า. . . “การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องการคนที่มี Leardership ที่จะนำพาสังคมไปให้เกิดความยั่งยืนได้”
แล้วในภาคส่วนของโรงเรียน “เราบริหารจัดการทั้งในส่วนของการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resource Management) และ สร้างพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ (All for Quality Education) อย่างไรเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้?”
เป็นคำถาม และคำตอบสู่การบรรยายครั้งนี้
ครั้งนี้ เราได้ยกทีมไปกัน “ทั้งครูแจ๊ด ครูเปา ครูเก๋ (ครูผู้สอนวิชาซับเหงื่อโลก) และตัวแทนนักเรียน ม. 2 จากวิชาซับเหงื่อโลก (พัฒ เอมี่ หนมเทียน) ” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่นิสิตและอาจารย์ที่เข้าฟัง กับหัวข้อ
• พุทธปัญญากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• ความเป็นผู้นำทางการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Resource Management)
• ความเป็นผู้นำสร้างพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ (All for Quality Education)
• การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (เช่น วิชาซับเหงื่อโลก)
โดยในส่วนการจัดการเรียนการสอนนี้
“เราจัดการเรียนรู้อย่างไรเพื่อบ่มเพาะผู้เรียนให้มีภาวะผู้นำ (Leardership) ในเรื่องของการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการสร้างพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ”
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว จึงถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อการสร้างภาวะผู้นำรายบุคคล ผ่านวิชาต่าง ๆ ในแต่ละชั้นปี และในวิชาซับเหงื่อโลก เป็นรายวิชาที่ออกแบบเพื่อให้ผู้เรียน รู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสัมพันธ์ของตนเองกับสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่เกี่ยวข้อง และมีฉันทะลุกขึ้นมาช่วยกันลดหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในวิชาซับเหงื่อโลก
เทอม 1
• การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)
• การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning)
• การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-Based Learning)
เทอม 2
• Problem-Based Learning (PBL)
ณ ปัจจุบันนี้ โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกทำให้เกิดภัยธรรมชาติสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และ ปัญหาขยะล้นโลก เป็นต้น
การหาทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนไม่ใช่เพียงการรักษาแผลที่เห็นอยู่ตรงหน้า แต่คือการทำความเข้าใจกับรากของปัญหาและต้นตอปัญหาที่แท้จริง เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดและไม่ไปสร้างปัญหาอื่นเพิ่ม และเพื่อความยั่งยืนจึงต้องปลูกฝังให้เด็กๆ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ควบคู่กันไป
ทั้งหมดนี้ได้ออกแบบเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และฝึกการแก้ปัญหาจริง ได้พัฒนาทักษะการค้นคว้าข้อมูล การคิดวิเคราะห์ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม ถือเป็นกระบวนการสร้างภาวะผู้นำให้เกิดแก่ผู้เรียน
ในครั้งนี้เราได้นำตัวอย่างการทำงานของเด็กๆ ในรูปแบบ Project มานำเสนอให้พี่ๆ นิสิต ป.ตรี รับฟังกันจำนวน 3 Project โดยเป็นตัวแทนนักเรียน ระดับชั้น ม.2 ได้แก่
• Smart home
นำเสนอโดย ด.ช. พัฒนะ ช้อยเครือ (พัฒ)
• Upcycling Pillow
นำเสนอโดย ด.ญ.ธรรม์มิตาว์ บุญวรพัฒน์ (เอมี่)
• Milk Box Recycling
นำเสนอโดย ด.ญ.ภูณิสรา เธียรธวัช (หนมเทียน)
จากความตั้งใจของเด็ก ๆ ที่ทุ่มเทซ้อมนำเสนอจนนาทีสุดท้าย คุณครูสังเกตเห็นว่าพี่ๆ นิสิตให้ความสนใจ ตั้งใจฟัง และให้กำลังใจน้อง ๆ ในการนำเสนอโครงงาน (Project) และการเรียนรู้ (Learning) มากที่สุด พี่ ๆ สะท้อนว่าสิ่งที่คณะผู้บริหารและครูบรรยายในช่วงต้นสอดคล้องกับสิ่งที่เด็ก ๆ ได้แสดงให้พี่ ๆ เห็นว่า เด็ก ๆ ที่โรงเรียนปัญญาประทีปไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่วิชาการ แต่เด็ก ๆ ยังมีทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้และทำงานในโลกปัจจุบันจริง รวมทั้งสามารถสะท้อนคิดถึงการเรียนรู้ด้านวิชาชีวิตของตนเองด้วย
บอกเล่าเรื่องราวโดย ครูเก๋ - ฐิติมา กุลจรัสอนันต์ (ครูผู้สอนวิชาซับเหงื่อโลก)