Share

ระหว่างนักเรียนปิดเทอม คุณครูก็ใช้เวลาสำหรับการเติมขุมพลังความรู้ ซึ่งการเรียนรู้ของคุณครูปัญญาประทีปที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสองวันนี้โรงเรียนได้รับความเมตตาจากอาจารย์พนม ที่นำกระบวนการเรียนรู้ “Transformative Learning” หรือ “Experiential Learning” มาใช้ในการอบรมครั้งนี้ที่ไม่ใช้การเรียนรู้จากการฟัง จด หรือความจำ แต่เป็นเรียนรู้จาก “ข้างใน” ด้วยความเข้าใจ มาดูกันว่าแก่นสาระและหัวใจสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้ทั้งสองวันนี้มีอะไรบ้างนะคะ  

• วันแรก (28 เมษายน 2567) Positive Psychology in Classroom

การอบรมที่จัดให้สำหรับคุณครูผู้สอน ครูประจำชั้น ครูพ่อครูแม่ ที่มีโอกาสในการทำหน้าที่ดูแลนักเรียนโดยตรง ให้สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกับนักเรียนให้มีสัมพันธภาพที่ดี มีความสุขร่วมกันมากยิ่งขึ้น อาจารย์พนมได้มอบตัวช่วยอะไรให้คุณครูกันบ้างมาดูกันค่ะ

1. “PERMA Model” หรือ 5 Factors for Well-being 

คือ 5  ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขหรือสุขภาวะที่ดี หากคุณครูสามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ก็จะยิ่งทำให้เกิดห้องเรียนเชิงบวก ที่เด็กๆ มีความสุขในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี 

P-รู้สึกปลอดภัย/ไม่คุกคาม [Positive Emotion]
E-เกิดความผูกพัน [Engagement]
R-ความสัมพันธ์ดี [Positive Relationship]
M-สื่อสารตรง/ชัด/กระชับ/มีคุณค่า/ผลบวก [Meaning/Purpose]
A-ทำได้ [Accomplishment]

2. Character Strength

การตระหนักถึง “จุดแข็ง” ของตัวเอง การที่คนอื่นเห็นข้อดี หรือจุดแข็งของเรา เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความสุข ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ PERMA ข้างต้น การที่เรายิ่งได้ใช้จุดแข็งของเราทำประโยชน์ ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตรู้สึกเติมเต็ม หรือแม้กระทั่งยามที่เราเจอปัญหา จุดแข็งของเราจะเป็นสิ่งสำคัญ เปรียบเสมือนเรามีต้นทุนนี้อยู่กับตัว ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอุปสรรคอะไร เราจะมีจุดแข็งนี้เป็น “อาวุธ” ประจำตัว ที่จะช่วยให้เราก้าวข้ามไปได้ 

3.“Transformative Learning” หรือ “Experiential Learning” คือ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับคุณครูในการอบรม โดยเนื้อหาหรือหลักการต่างๆ ที่เป็นองค์ความรู้นั้น เกิดจากการที่อาจารย์พนมให้พวกเราได้ทำกิจกรรม แล้วช่วยกันถอดบทเรียนหรือสะท้อนคิดออกมา จนทำให้เนื้อหาการเรียนรู้มาจาก “ข้างใน” ด้วยความเข้าใจของเรา ก่อนที่อาจารย์จะบรรยายหรือให้หลักการใดๆ ซี่งวิธีการเรียนรู้เช่นนี้ จึงจะทำให้คนเกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ได้จริงๆ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้มาไม่ได้เกิดจากความจำ แต่เกิดจากการตกผลึกบางอย่างออกมาจากตัวผู้เรียน ที่สรุปความเข้าใจออกมาได้เอง เป็นกระบวนการที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี
‘สิ่งที่ฉันได้ยิน ฉันลืม สิ่งที่ฉันเห็น ฉันเข้าใจ 
สิ่งที่ฉันทำ ฉันจำ’ - ขงจื้อ

• วันที่สอง (29 เมษายน 2567) Feedback 

‘Everyone thinks of changing the world but no one thinks of changing himself’ - Leo Tolstoy
การอบรมหัวข้อนี้ได้จัดให้สำหรับคุณครูทุกคนในโรงเรียน ซึ่งรวมถึงครูที่ทำงานสนับสนุนต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับนักเรียน รวมถึงนำไปปรับใช้ในการทำงานร่วมกันระหว่างคุณครู เพื่อน หรือคนในครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน การ feedback นั้นเป็นการสื่อสารเชิงบวก ที่ทำให้นักเรียนเห็นจุดแข็งจุดอ่อนตนเอง สิ่งที่นักเรียนยังทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ แต่ครูมองเห็น และยังช่วยชี้แนะแนวทางแก้ไข วิธีเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น และจะดีกว่ามากขึ้น ถ้าครูประเมินนักเรียนเป็นระยะๆ ก่อนจะจบชั้นปี การที่ครูให้ feedback อย่างรวดเร็วจะช่วยให้นักเรียนแก้ไขได้ทันเวลาไม่สายเกินไป 

Feedback คือ การสื่อสาร พฤติกรรมดีคงอยู่ ลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา 

• POSITIVE Feedback : สำหรับพฤติกรรมที่ดีอยู่แล้ว เช่น การชม ยกย่อง ให้รางวัล จะช่วยพฤติกรรมนั้นคงอยู่ต่อไป หรือเพิ่มมากขึ้น  
• NEGATIVE Feedback : เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า CONSTRUCTIVE FEEDBACK มุ่งหมายเพื่อให้พฤติกรรมที่ไม่ดีลดลง เช่น การตักเตือน ใช้เมื่อเห็นว่านักเรียนทำผิด หรือทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือเป้าหมาย 

เทคนิคการ FEEDBACK 

1. SANWICH Feedback แบบแจกแซนวิช : หลักการง่ายๆ คือ ชมก่อน แล้วค่อยเตือน แล้วชมหรือให้กำลังใจอีกที 
  • เริ่มจากขนมปังชิ้นแรกด้วยการ 'ชม' เพื่อเปิดทางให้ยอมรับการเตือน
  • สิ่งที่เตือน คือ ใส้กลางของแซนด์วิช 
  • ปิดท้ายด้วยขนมปังอีกชิ้น ที่แสดงความคาดหวังบวกหรือสิ่งดีๆ ของผู้นั้น เพื่อให้กำลังใจ ยอมรับ นำกลับไปทบทวนเพื่อพัฒนาตนเอง 

2. TAG Feedback แบบแจกป้าย : 
  • T คือ Tell something you like - ให้บอกว่าเราชอบอะไรบ้างจากสิ่งที่เห็นและประเมิน น่าจะมีอะไรดีๆ บ้างให้ชม 
  • A ย่อมาจาก Ask a question -ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้คิด ทบทวนตนเอง ค้นหาเหตุผลที่ทำ  
  • G คือ Give a suggestion บอกสิ่งที่ต้องการสอนหรือตักเตือน บอกว่าน่าจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น 

Feedback Tips
• Is it right - พูดจริง ความจริง เห็นด้วยตนเอง
• Is it wise - มีประโยชน์ ช่วยแก้ไข/พัฒนา ผู้รับสารยอมรับ /ถูกกาละเทศะ รวดเร็ว สร้างสรรค์ ผู้รับสารไม่อาย ไม่โกรธ 
• Is it nice - ด้วยใจเมตตา อยากให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับ /พูดไพเราะ ใช้ I-message

อาจารย์เขียนไว้ว่า นักเรียนที่ได้รับ feedback ดี เค้าจะจำและประทับใจไปตลอดชีวิต ตรงกันข้ามกับการได้รับ feedback แบบรุนแรง อาจทำให้เค้าเสียใจ และจะเป็นภาพจำฝังใจไปยาวนานได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมในการ feedback ด้วยกันเอง ช่วยเหลือกัน ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย น่าจะทำให้โรงเรียนน่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน … ซึ่งโรงเรียนปัญญาประทีปของเราได้มี ‘วงกลมกัลยาณมิตร’ ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ feedback สะท้อน ขอบคุณ ขอโทษ กันและกันอยู่เป็นระยะ การได้รับความรู้และเทคนิคเพิ่มเติมจากอาจารย์พนมในการอบรมครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปปรับใช้พัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป


เรียบเรียงข้อมูลจาก บันทึกกการอบรมฯ โดย ครูต๊อบ (ฝ่ายบ่มเพาะครู) และ Facebook Page Panom Ketumarn

ชมภาพเพิ่มเติม คลิกที่นี่